วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2561

เทศกาลจีน : เทศกาลไหว้บะจ่าง

เทศกาลไหว้บะจ่าง หรือ เทศกาลตวนอู่ 端午节

เริ่มจาก  ชวีหยวน 屈原 (ประมาณก่อน ค.ศ. 339 - 278) ขุนนางตงฉินและกวีรักชาติ ผู้ทิ้งร่างลงแม่น้ำ มี่หลัวเจียง ด้วยรู้สึกสิ้นหวังกับบ้านเมือง จากนั้นพอชาวบ้านทราบข่าวต่างรู้สึกสูญเสีย พากันทิ้งก้อนข้าวเหนียวห่อใบไผ่ลงน้ำให้ฝูงปลากิน จะได้ไม่ไปกัดกินศพของชวีหยวน
เชื่อกันว่า เทศกาลตวนอู่ เป็นเทศกาลที่ผู้คนจัดรำลึกถึงชวีหยวน ทว่า จะว่าไปกำเนิดเทศกาลตวนอู่นั้น จากการศึกษาในยุคหลังพบว่า ประเพณีโยนก้อนข้าวเหนียวเพื่อเซ่นไหว้แม่น้ำ หรือ การล่องเรือมังกร มีหลักฐานมาก่อนเรื่องราวของชวีหยวน เรื่องนี้มีหลายสำนวน มีทั้งเรื่อง โกวเจี้ยน ซ้อมเรือมังกร เรื่องของหญิงกตัญญูเฉาเอ๋อร์ แต่ที่ดูจะใกล้เคียงกับเรื่องของชวีหยวน และเกิดขึ้นก่อนเรื่องราวของชวีหยวน
นั่นคือ เรื่องของ อู๋จื่อซวี 伍子胥 จอมทัพแคว้นอู๋ ที่พยายามทักท้วงอู๋หวังฟูชา. 吴王夫差 ไม่ให้หลงเสน่ห์ไซซี และให้อู๋หวังฟูชา เข้าตีแคว้นเยว่ ก่อนจะถูกแคว้นเยว่ตี สุดท้าย อู๋จื่อซวี กลับถูก อู๋หวังฟูชา มอบกระบี่ให้ฆ่าตัวตาย ก่อนปลิดชีพตัวเอง อู๋จื่อซี สั่งเสียว่าให้ดวงตาของเขาไปแขวนไว้ที่ประตูเมือง เขาอยากจะเห็นทัพแคว้นเยว่มาถล่มแคว้นอู๋ด้วยตาตัวเอง
คำสั่งเสียเข้าถึงหู อู๋หวังฟูชา ทำให้เขาโกรธมาก สั่งให้นำศพ อู๋จื่อซวี ไปทิ้งลงแม่น้ำเฉียนถังเจียง 钱塘江 ชาวบ้านต่างพากันนำข้าวเหนียวห่อใบไผ่ทิ้งลงแม่น้ำให้ปลากิน แทนที่จะกัดกินศพของท่านอู๋ แต่กรณีท่านอู๋ งมศพขึ้นมาได้แล้วชาวบ้านตั้งศาลที่ริมแม่น้ำนั่นเอง และมีพิธีรำลึกในวันที่ห้าเดือนห้า หรือตวนอู่เจี๋ยนี่เอง
สันนิษฐานว่า พอเกิดกรณีชวีหยวนแล้ว ชาวบ้านก็ใช้ธรรมเนียมปฏิบัติเดียวกับที่มีผู้ทำพิธีเซ่นไหว้ บวงสรวง อู๋จื่อซวี ภายหลังเรื่องเล่าของชวีหยวน กลับ “ดัง” กว่า เลยกลายเป็นที่มาของเทศกาลบะจ่างแต่ผู้เดียวไปโดยปริยาย

วิวัฒนาการบะจ่าง ยุคแรกใช้ข้าวหลามแทนการห่อ
บะจ่าง หรือ จ้งจื่อ(粽子) ในยุคแรกใช้ข้าวฟ่าง เรียกว่า เจี๋ยวสู่(角黍) คำว่า จ้ง(棕) เดิมใช้อักษร 椶 พจนานุกรมสมัยราชวงศ์ฮั่น ซัวเหวินเจี๋ยจื้อ《説文解字》 อธิบายว่าหมายถึง ข้าวห่อใบอ้อ
ในเอกสารสมัยราชวงศ์ถังชื่อว่า ชูเสวียจี้《初學記》 มีข้อความอธิบายเพิ่มโดยอ้างเอกสารสมัยราชวงศ์เหลียงชื่อ ซวี่ฉีเสียจี้《續齊諧記》ว่า ในวันที่5เดือน5 คือวันที่ขุนนางภักดีนาม ชวีหยวน โดดน้ำตาย คนเซ่นไหว้ด้วยด้วย เจี๋ยวสู่(角黍) โดยทำอย่างข้าวหลาม คือเอา เจี๋ยวสู่ยัดใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วโยนลงน้ำ ในสมัยราชวงศ์ฮั่นมีคนนึงฝันเห็นวิญญาณชวีหยวน วิญญาณแจ้งว่าของเซ่นไหว้ที่โยนลงน้ำโดนงูและมังกรกิน เวลาเซ่นไหว้ให้เอาใบหน่อไม้น้ำปิดปากกระบอกไม้ไผ่ ผูกด้วยเชือกสี งูและมังกรจะกลัวไม่กล้ากิน
ภายหลังคนก็ไม่ใช้ข้าวหลาม ขั้นตอนยุ่งยาก ต้องหากระบอกไม้ไผ่ เลยเปลี่ยนมาเป็นเอา ขนมจ้าง หรือ จ้ง(粽) ซึ่งเป็นข้าวห่อด้วยใบหน่อไม้น้ำสำหรับเซ่นไหว้ชวีหยวน ต่อมาจึงใช้ จ้ง ซึ่งเป็น ข้าวห่อใบอ้อ มาเซ่นไหว้แทนใบหน่อไม้น้ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น