วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2563

จีน(1296-1372) ชือ ไน่อัน กับปริศนาใครแต่งเรื่อง ซ้องกั๋ง?

ชือ ไน่อัน (施耐庵 หรือ 施耐菴  ราว ค.ศ. 1296–1372) เป็นนักประพันธ์ชาวจีนจากเมืองซูโจว มณฑลเจียงซู เชื่อกันว่า ชือ ไน่อัน เป็นผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง ซ้องกั๋ง (แต้จิ๋ว) หรือ ซ่งเจียง(宋江) ซึ่งเป็นชื่อ ตัวละครเอกของเรื่อง ส่วนชื่อนิยายจริงๆ นั้น ชื่อ สุยหู่จ้วน หรือ 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน ในที่นี้ของเรียกตามแบบคนไทย คือ ซ้องกั๋ง นะครับ

ข้อมูลเกี่ยวกับชีวประวัติของชือ ไน่อัน มีเพียงเล็กน้อย เชื่อกันว่า ซื่อ ไน่อัน น่าจะเป็น อาจารย์ของ หลัวก้วนจง ผู้ประพันธ์นิยายอิงประัติศาสตร์เรื่อง สามก๊ก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีน นักวิชาการบางคนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวการมีตัวตนของ ชือ ไน่อัน บ้างก็ว่า "ชือ ไน่อัน" เป็นเพียงนามแฝงของ หลัวก้วนจง

ดังนั้น มี 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1 ซื่อไน่อัน มีตัวตนจริงหรือไม่  2. เขาเป็นคนแต่งเรื่อง ซ้องกั๋ง หรือ 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซานจริงหรือไม่

ประวัติ ซื่อไน่อัน
เข้าประเด็นแรก  ในตอนแรกนั้น เรารู้เพียงว่า เขาน่าจะมีชีวิตคาบเกี่ยวระหว่าง ปลายราชวงศ์หยวนไปจนถึงต้นราชวงศ์หมิง คือ รัชสมัยของจูหยนจางเท่านั้น โดยเมื่อตรวจคำศัพท์ในซ้องกั๋งหลายคำแล้ว นักประวัติศาสตร์จึงเชื่อว่า ชื่อ ไน่อัน น่าจะเกิดที่ เมืองซูโจว มณฑลเจียงซู  แล้วจึงไปสืบเสาะจากประวัติพื้นบ้าน ย่านนั้นต่ออีกที จึงพบเรื่องราวดังนี้

ซื่อไนอัน น่าจะสืบเชื้อสายมาจาก ซื่อ จือเซี้ยง 1 ใน 72 ศิษย์ของขงจื้อ และมาตั้งรกรากที่ซูโจว ชื่อจริง น่าจะชื่อว่า เอียนต้วน ส่วน ไน่อำ หรือไน่อัน เป็นชื่อฉายา เขาเป็นคนเรียนเก่งมาก ต่อช่วงสงครามมองโกล นั้น เขาหลีกหนีความวุ่นวาย ไปแต่งนิยายเรื่อง "ซ้องกั๋ง"

หลังจูหยวนจางก่อตั้งราชงศ์สำเร็จ อายุ 29 ปี เขาก็สอบได้ตำแหน่ง โกยนั้ง คือตำแหน่งบัณฑิตอันดับหนึ่งของมณฑล อายุ 35 ปี สอบได้ตำแหน่งจิ้นสือ คือบัณฑิตหน้าพระที่นั่ง โดยบันทึกในสุสานระบุว่า  ตำแหน่งจิ้นสือที่เขาสอบได้ อยู่ลำดับเดียวกับ หลิวป๋ออุน กุนซือที่ปรึกษาของจูหยวนจาง ผู้พิชิตมองโกลเลยทีเดียว

ต่อมา ซื่อไน่อัน เข้ารับราชการอยู่ 16 ปี ตัวเขากลับเจอขุนนางกลั่นแกล้ง เขาจึงลาออกแล้วย้ายไปอยู่เมืองซูโจว พร้อมน้องชาย และลูกศิษย์ ชื่อ หล่อก้วนตง

โดยตอนแรก เขารับสอนหนังสือ ภายในท้องถิ่น จนคนท้องถิ่นให้ความเคารพ และเรียกฉายาเขาว่า ไน่อำกง นอกจากนี้แล้ว เขายังสอนวาดภาพอีกด้วย เขาเป็นคนเข้มงวดเรือ่งการวาดภาพมาก ในจำนวนนี้มี ภาพวาดของตัวละครในซ้องกั๋งด้วย 108 ภาพ สิ่งนี้เองทำให้เชื่อว่า เขาแต่งเรื่องซ้องกั๋ง เสร็จก่อนแล้ว

โดย กุนซือหลิวป๋อกุน(刘伯温) มีครอบครองอยู่ถึง 2 ภาพ กุนซือ หลิวป๋อกุน ได้ทูลเสนอ จูหยวนจาง หลายครั้งเรื่องการรับ ซือไน่อัน เข้าเป็นผู้ติดตามเขา แต่กลับเป็น ซือไน่อัน เองที่ปฎิเสธมาการเข้ารับราชการอีกครั้ง โดยมักจะอ้างตัวว่า สุขภาพไม่ดี นักประวัติศาสตร์ ยืนยันว่า สถานที่ในนิยายเรื่องซ้องกั๋งนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ย่านแถบเมืองซูโจว

ความสามารถของซือไน่อัน ไม่เป็นรองใครในแผ่นดิน เขาเก่งทั้ง งานประพันธ์ แตกฉานวิชาแพทย์ ตรวจดูดวงชะตา และฮวงจุ้ย นอกจากนี้ เขายังมีวิชากังฟูติดตัวอีกด้วย

ปราบนักเลงโรงน้ำชา
ตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่ง ช่วงต้นราชวงศ์หมิง ซือไน่อัน ไปนั่งจิบน้ำชาที่โรงเตี๊ยม แต่กลับมีนักเลงมาก่อความวุ่นวายในโรงเตี๊ยม ซือไน่อันจึงเดินไปตักเตือน กลุ่มนักเลงไม่พอใจ จึงได้หยิบพลองเหล็กหวดไปที่ซือไนอัน แต่ซือไนอัน เอียวตัวหลบได้ และถีบไปที่นักเลงคนนั้น ทำให้นักเลงเสียหลักล้มลง ซือไน่อันจึงหยิบพลองเหล็กพาดไปที่นักเลงคนนั้นแทน ทำให้นักเลงต้องวิ่งหนีไป

ปราบนักเลงเทศกาลโคมไฟ
อีกครั้งหนึ่ง ซือไน่อัน เดินไปเที่ยวเทศกาลโคมไฟ ได้พบกับนักเลงกำลังลวนลามหญิงสาว เขาจึงเดินไปตักเตือนอันธพาล แล้วจับนักเลงเหวี่ยงกระเด็นออกไป ทำให้นักเลงต้องรีบวิ่งหนีไป

แต่ 2-3 วันถัดมา กลับยกพวก 7-8 คนมาเพื่อล้างแค้น ซื่อไน่อัน แต่ ซื่อไน่อัน กลับไปหยิบเชือกมามัดผูกกับขาข้างหนึ่งของเขาเอง แล้วให้อันธพาล 7-8 คนช่วยกันดึง เพื่อลากขาของเขา แต่ทั้ง 7 คนกลับไม่สามารถดึงขาของ ซือไน่อัน ให้ขยับเขยื้อนได้ เมื่ออันธพาลเห็นดังนั้น จึงเข้าใจแล้วว่า พกเรากำลังพบกับยอดฝีมือ จึงได้ขอโทษแล้วรีบหลบหนีไป

จากหลักฐานต่างๆ สรุปได้ว่า ซือไนอัน มีตัวตนจริง แต่ชื่อ ซือไน่อัน อาจไม่ใช่ชื่อจริง เป็นเพียงฉายา

ปริศนา ซ้องกั๋ง ‘108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน’
จริง 3 ส่วน แต่ง 7 ส่วน"

เรามาเข้าประเด็นหลักของวันนี้ ว่า ซื่อไน่อัน นั้น เป็นคนแต่งเรื่อง ซ้องกั๋ง หรือ ฉุยหู่จ้วน (จีน: 水滸傳; พินอิน: Shuǐhǔ Zhuàn) หรือในชื่อไทยว่า   108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน จริงหรือไม่

ก่อนอื่นของเล่าเรื่องย่อ ของเรื่อง ซ้องกั๋ง  เนื้อเรื่อง เกี่ยวกับ การรวมตัวกันของกลุ่มโจร 108 คนในช่วงรัชสมัย ฮ่องเต้ ซ่งฮุ่ยจง ที่ขึ้นชื่อว่า ยุคบ้านเมืองอ่อนแอ ฮ่องเต้ไม่มีคามสามารถ โดนขุนนางกังฉินคอยเป่าหู และใช้อำนาจไปอย่างมิชอบ โดนเฉพาะขุนนางกังฉิน ชื่อ เกาฉิว

โดยตอนแรกจะเป็นเรื่องราวการรวมตัวของเหล่าผู้กล้า และชีวประวัติของแต่ละตัวละคร โดยมีตัวละครเอกคือ ซ้องกั๋ง หรือ  ซ่งเจียง(宋江) ที่มีฉายา หยาดพิรุณทันกาล ที่อาจจะมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เพราะมีชื่อปรากฎในพงศาวดารราชวงศ์ซ่ง รวมถึง ในชีวประวัติของ จางซูเย่ ที่ระบุการก่อการต่อต้านรัฐบาลของซ่งเจียง

แต่ในนิยายระบุว่า  เขาหัวหน้ากลุ่มโจร ที่มีหัวหน้าใหญ่ 36 คน และหัวหน้ารอง 72 คน ซึ่งนำมาจาก นิทานสุ่ยหู่ (水浒故事)ซึ่งนิทานพื้นบ้าน ที่ไม่ปรากฎชื่อผู้แต่ง จึงเกิดประเด็นสงสัยว่า ซือไน่อัน นั้นเป็นผู้แต่งนิยาย เรื่อง ซ้องกั๋ง เองทั้งหมด หรือ เป็นเพียงคนรวบรวม นิทานพื้นบ้านเหล่านี้เท่านั้น

สิ่งถัดมาคือ ตัวละครทั้ง 108 คนนั้น มีประวัติความเป็นมา เหมือนกันหมด คือ ทุกคนถูกขุนนางกลั่นแกล้ง กดขี่ข่มเหง จึงหนีออกมารวมตัวเป็นโจร ที่เขาเหลียงซาน เพื่อปราบเหล่าขุนนางชั่ว โดยในตอนแรกจะเ้นไปที่ การรวมกลุ่มและประวัติของแต่ละคน เช่น พระหลู่จื้อเซิน สื่อจิ้น หลินชง อู่ซ่ง (บู๊ซ้ง) หลี่ขุย ซ่งเจียง เป็นต้น แต่ช่วงกลางเรื่องถึงท้ายเรื่อง กลับเปลี่ยนเป็น กลุ่มโจรเข้ารับราชโองการจากฮ่องเต้ ซึ่งความจริงเป็นแผนของเกาฉิว เพื่อหลอกให้ไปปราบกลุ่มกบฎต่างๆ แต่กลับพลาดท่าเสียที ผู้กล้าหลายคนต้องเสียชีวิตเป็นอันมาก

โดยในตอนจบนั้น เมื่อปราบกบฎได้หมด ซ่งเจียง ก้ได้รับพระราชทานเหล้าจากฮ่องเต้ แต่เกาฉิว กลับแอบใส่ยาพิษลงไปในเหล้า ทำให้ซ่งเจียงนั้นเสียชีวิต และไม่สามารถรวมกลุ่มผู้กล้าได้อีกต่อไป

โดยในตอนจบนั้น ให้ อ่องเต้ ซ่งฮุ่ยจง ฝันว่า เหล่าผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซานนั้น แท้ที่จริง เป็น เทพยาดาจุติลงเกิดเพื่อปราบยุคเข็ญ เมื่อพวกเขาได้พบกัน ก็สาบานตัวเป็นพี่น้องกัน และกล่าวประนามฮ่องเต้ว่า อ่อนแอ หูเบา พร้อมจะรุมทำร้ายฮ่องเต้ ทำให้ฮ่องเต้ซ่งฮุ่ยจง ต้องสะดุ้งตื่น

ใครแต่งกันแน่
ตามที่อธิบายไว้ตอนต้น เรื่องตอนต้นเรื่องนั้น เป็นการรวบรวมชีวประวัติจากนิทานพื้นบ้าน ที่ปรากฎในพงศาวดารจริง แต่ส่วนหลังนั้น กลับเป็นเรื่องการทำสงครามปลีกย่อย ที่ใช้ตัวละครจำนวนมาก

โดยในส่วนแรกนั้น ได้อธิบายแล้วว่า ตัวละครบางตัวนั้นได้ปรากฎชื่อในพงศาวดาร มาบ้างแล้ว และมีเนื้อเรื่องที่คล้ายกับนิทานพื้นบ้านสุ่ยหู (水浒故事)ที่ไม่ปรากฎชื่อผู้แต่ง แต่ ในเรื่องพี่น้องทั้ง 36 คน แรกเริ่ม นั้น กลับปรากฎในชื่อ หนังสือ กุ่ยซินจ๋าซือ (癸辛雜識) แต่งโดยโจวมี่ (周密) ราวคริสตศตวรรษที่ 13 สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ โดยกล่าวถึงตัวละครหลักๆ เช่น ซ่งเจียง หลูจุ้นอี้ อู๋ย่ง กวนเซิ่ง สามพี่น้องหย่วน หลิ่วถัง ฮัวหยง

ทำให้เชื่อว่า ตัวละครรอง คือ 72 คนนั้น น่าจะถูกแต่งในภายหลัง หรืออาจเป็น นิยายพื้นบ้านที่ถูกรวบรวมเพิ่มขึ้น แต่เรื่องนี้นั้นถูกเล่าต่อๆ กันมา

สิ่งนี้เองทำให้ผู้คนสงสัยว่า ผู้แต่งเรื่อง “ซ้องกั๋ง” (宋江) อาจจะเป็นลูกศิษย์ของซือไน่อัน คือ  หลัวก้วนจง  (罗贯中) มากกว่า เพราะมีการศึกษาผลงานเรื่อง “ซันซุ่ยผิงเยาจ้วน” (三遂平妖传) พบว่ามี 13 บทในเรื่องนี้ที่ถูกนำไปใส่ไว้ในเรื่อง ซ้องกั๋ง  แสดงให้เห็นว่า “ซ้องกั๋ง” อาจจะเป็นผลงานของ หลัวก้วนจง

โดยเฉพาะการค้นพบประโยคที่ว่า “ซือไน่อัน แต่ง  หลัวก้วนจง เรียบเรียง” ในหนังสือ “จงอี้สุยหู่จ้วนอี้ไป่เจวี้ยน” (忠义水浒传百卷) ซึ่งเป็นต้นฉบับของเรื่อง ซ้องกั๋ง  นอกจากนี้ ยังพบประโยคที่ว่า “ซือไน่อันรวบรวม หลัวก้วนจงแก้ไข”  ในหนังสือ “ซ้องกั๋ง” ของ เทียนตูไว่เฉิน (天都外臣) ซึ่งเป็น “ซ้องกั๋ง” ฉบับที่เก่าที่สุดที่ยังพบได้ในปัจจุบัน  เพราะฉะนั้น  ข้อสันนิษฐานนี้จึงมีความน่าเชื่อถือ อย่างน้อย ก็น่าจะเป็นผลงานร่วมกันมากกว่า

โดยนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า  เนื้อเรื่องเดิม น่าจะมีเพียง 36 คน ต่อมาจึงเพิ่มให้ครบ 108 ตามความเชื่อเรื่องโชคชะตาในลัทธิเต๋ามากกว่า

อีกทฤษฎีชื่อว่า ซือไน่อัน นั้นเป็นคนแต่งส่วนแรก ต่อมาเนื้อหาส่วนหลังนั้น น่าจะถูกแต่งโดย หล่อก้วนจง เพราะสังเกตุจากท้ายเรื่องนั้น มันเป็นการทำศึกขนาดใหญ่ มีการใช้เล่ห์เหลี่ยม และมีการกระจายบทตัวละครย่อยเป็นอันมาก ที่มีลักษณะการประพันธ์เหมือน สามก๊ก อย่างชัดเจน

นักประวัติศาสตร์จับผิดเรื่องยุคสมัย
นักประวัติศาสตร์ศึกษาช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ในนิยายเรื่อง “ซ้องกั๋ง” กลับพบว่า บางเหตุการณ์เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคของ ฮ่องเต้ เจียจิ้ง (嘉靖年间) หรือ หมิงซื่อจง ราชวงศ์หมิงนั้นมี หมิงซื่อจง 2 คน อีกคนเป็นคนสุดท้ายราชวงศ์หมิง

แต่ซือไน่อัน นั้นอยู่ในยุคของ จูหยวนจางที่เป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์หมิง ซึ่งเป็นยุคก่อน ฮ่องเต้เจียจิ้ง ถึง 100 ปี โดยเฉพาะลักษณะการปกครอง และลัทธิเต๋า ที่เฟื่องฟูในกลางยุคราชวงศ์หมิง นั้น ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในยุคของซือไน่อัน  จึงเป็นอีกข้อสันนิษฐานว่า คนแต่งอาจอยู่ในยุคกลางราชวงศ์หมิงมากกว่า นั่นคือ กัวซวิน (郭勋) เพราะ “ซ้องกั๋ง” ฉบับหนึ่งร้อยตอน ของกัวซวิน ควรจะเป็นฉบับแรกสุด

เพราะในยุค ฮ่องเต้เจียจิ้ง นั้น เนื่องจากนิยายเรื่องนี้ เน้นไปที่การปลุกระดมการต่อต้านรัฐบาลที่ปกครอง ทำให้ผู้แต่ง อาจต้องการปกปิดชื่อเนื่องจากหลีกเลี่ยงการับโทษจากนิยายที่เขียนก็เป็นได้ จึงไปยืมชื่อของคนในอดีตมาแทน

โดยนิยายเรื่องนี้ กลับถูกแบนในช่วงระยะเวลาของ ฮ่องเต้ ฉงเจิน หรือ หมิงซื่อจง อีกคน ซึ่งเป็นรัชกาลสุดท้ายของราชวงศ์หมิง เนื่องจากเกิดกบฎไพร่ ที่นำโดย หลี่จื้อเฉิง  (李自成 1606 - 1645?)

สุดท้าย  ปริศนาที่ว่า ซือ ไน่อัน เป็นผู้แต่งวรรณกรรมเรื่อง “ซ้องกั๋ง” จริงหรือไม่นั้น ก็ยังคงมีข้อสงสัยอยู่อีกหลายจุด  และปริศนานี้จะคลี่คลายเมื่อไร  ก็ยังมิอาจทราบได้ อย่างไรก็ดี กระแสหลักยังคงยอมรับกันว่า ซือไน่อัน นั้นเป็นผู้แต่งเรื่อง สุยหูจ้วน หรือ 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลีียงซาน

ซ้องกั๋ง กับนิยายกำลังภายใน
สุ่ยหู่จ้วน ฉบับเต็มนั้นจะมีความยาว 120 บท โดยเวอร์ชั่นที่ได้รับการตีพิมพ์อย่างแพร่หลายในรัชสมัยราชวงศ์หมิงั้น หยางติ้งเจี้ยน(楊定見) เป็นผู้เรียบเรียง แต่ในเวอร์ชั่นของชาวตะวันตกจะเหลือเพียง 100 บาท นั่นถือขาดตอน ปราบกบฎเถียนหู่ และหวังชิ่ง

แต่เวอร์ชั่นของไทยที่แปลโดย สมเด็จเจ้าพระยาบรมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) นั้นจะแปลมาจากเวอร์ชั่น 120 บท เพราะมีเรื่องราวตอนปราบกบฏเถียนหู่และหวังชิ่งอยู่ด้วย

แต่เวอร์ชั่นที่นิยมอ่านกันจริงๆ จะเป็นเพียงเวอร์ชั่น 70 บท ที่จบเพียงแค่รวบรวมผู้กล้าครบ 108 คนเท่านั้น ขณะที่มีการแต่งเสริมเติมแต่งในฉบับต่างๆ หรือเรียกว่า Spin Off  ออกมาอีกมามาย ตั้งแต่ยุคราชวงศ์หมิง มาจนถึงราชวงศ์ชิงกันเลยทีเดียว

ขณะที่ นิยายกำลังภายในยุคใหม่ ก็มีการกล่าวอ้างนิยายเรื่อง 108 ผู้กล้าเขาเหลียงซาน เช่นกัน  ยกตัวอย่างเช่น

ก๊วยเซาเทียน บิดาของก๊วยเจ๋งในเรื่องมังกรหยกของกิมย้ง สืบเชื้อสายมาจากกัวเซิ่ง ฉายาบัณฑิตมือวิเศษ ของจูชง

ขณะที่ หนึ่งในเจ็ดประหลาดกังหนำ ฉายา นักปราชญ์มือวิเศษ  ก็มาจากฉายาของ เซียวย่าง ที่ใช้พู่กันเป็นอาวุธ

ในตอนท้ายเรื่องมังกรหยกภาคสอง อึ้งเอี๊ยะซือนำกลยุทธ์ เหลียนฮวนหม่า  ของ ฮูเหยียนจั๋ว มาประยุกต์ใช้ในการศึกกับมองโกลที่เซียงเอี๊ยง นอกจากนี้ ฮูเหยียนจั๋ว ยังเคยบุกเขาดอกท้อ ของหลี่จง กับโจวทง อีกด้วย

เซี่ยวลี้ปวยตอ มีดบินไม่พลาดเป้าของโกวเล้ง ดูเหมือนจะมีต้นแบบมาจาก มีดบินของหลี่อิง (ตัวละครเอกที่ แซ่หลี่ เหมือนกัน)

ตัวอย่างที่น่าสนใจของ อุนสุยอัน อีกสองเรื่องคือ หลวงจีนที่หลงรักสตรี และ สตรีที่หลงรักหลวงจีนนอกจากนี้ ชื่อฉายาของชาวยุทธในนวนิยายกำลังภายในของนักเขียนอีกหลายคน ยังดัดแปลงมาจาก นิยายเรื่อง 108 ผู้กล้าเขาเหลียงซานอีกด้วย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น