เทศกาล ตรุษจีน เทศกาล ตรุษจีน (春节) หรือ ภาษาจีนกลางเรียก เทศกาล ชุ่นเจี๋ย แปลว่า เทศกาล ฤดูใบไม้ผลิ เพราะ ฤดูใบไม้ผลิ ตามปฎิทินจีนแล้ว จะเริ่มต้นที่วัน ลีชุน ซึ่งเป็นวันแรกในทางสุริยคดติของปีปฎิทินจีน และยังหมายถึง วันสิ้นสุดฤดูหนาวอีกด้วย โดยคนจีนจะถือหลักว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่จะกำจัดสิ่งเก่า รับสิ่งใหม่ เข้ามา
(ในอดีต ฤดูหนาว คือ คนจะเก็บตัวอยู่ในบ้าน เงียบเหงา ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดฤดูหนาวและเข้าสู่ ฤดูใบไม้ผลิ จะหมายถึง การเริ่มต้นการทำงาน และเริ่มต้นเพาะปลูกได้ และหมายถึง ความรื่นเริง ได้เริ่มต้นขึ้นอีกแล้ว ซึ่งแนวคิดนี้เหมือนกับชาวตะวันตกเช่นกัน)
โดยในปฎิทินของจีน จะเป็นวันที่ 1 เดือน 1 ยาวไปจนถึง วันที่ 15 (ยึดถือ 15 วันตามปีจันทรคติ) ถือว่า เป็นเทศกาลที่มีมายาวนานหลายศตวรรษ แล้ว บางคนบอกว่า ยาวนานกว่า 4000 ปีเลยทีเดียว
ที่ประเทศจีน คืนก่อนวันตรุษจีน 1 วัน จะเป็นการรวมญาติสนิทมิตรสหาย หรือ ฉูซี่ ( 除夕)
ส่วนประเพณีในประเทศไทย จะมีเพียง 3 วัน คือ วันไหว้ วันจ่าย และวันเที่ยว
วันจ่าย หรือ วัน "ตือเส็ก" หรือ วันก่อนจะวันสิ้นปี จะเป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีน จะออกจากบ้านไปซื้อของเซ่นไหว้ และผลไม้ต่างๆ โดยจะเป็นการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ (ตี่จู่เอี๊ยะ) ให้ลงจากสวรรค์ เพื่อมารับการสักการบูชา หลังจากที่ 4 วันก่อนหน้านี้ ได้ไหว้อัญเชิญขึ้นสวรรค์ไปก่อนแล้ว แต่ความจริงแล้ว เจ้าที่ไม่ได้ไปไหน แต่มีเฉพาะ เจ้าซิ้ง (เทพเจ้าเตาไฟ) เท่านั้นที่ขึ้นสวรรค์
วันไหว้
เช้ามืด จะเริ่มต้น ไหว้ "ป้ายเล่าเอี๊ย"(拜老爺 / 拜老爷)
ตอนสาย (ไม่เกินเที่ยง) จะไหว้ ป้ายแป๋บ้อ (拜父母) หรือ บรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว
ตอนบ่าย จะไหว้ "ป้ายฮ่อเฮียตี๋"(拜好兄弟)
ตกกลางคืน จะเป็นคืนก่อนวันปีใหม่ ญาติสนิทมิตรสหาย จะมารวมตัวกันทานอาหารร่วมกัน โดยในมื้อดังกล่าว ควรมี เกี๊ยว ด้วย เพราะเกี๊ยว ลักษณะเหมือนทองโบราณของจีนนั่นเอง
ช่วงสาย - กลางคืน ของวันสิ้นปีนี้เอง ที่เหล่าญาติจะมารวมตัวกัน และแจกจ่าย"อังเปา" ให้แก่กัน
วันเที่ยว จะถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ หรือวันที่ 1 ของปี (ชิวอิก) โดยคนจีนจะปฎิบัติคือ การป้ายเจีย การไหว้ขอพร และอวยพรจากญาติผู้ใหญ่ และผู้ที่เคารพ โดยจะนำส้มสีทอง 4 ผล ไปมอบให้ (ส้มจะออกเสียงว่า กิก ที่พ้องเสียงกับคำว่า ความสุข หรือโชคลาภ 吉 ขณะที่ ฮกเกี้ยน จะออกเสียงส้มว่า ก้าม ที่พ้องเสียงกับคำว่าทอง ส่วนที่ต้อง 4 ผล เพราะเสมือนโชคลาภ 吉 ประกอบกัน 4 ตัวกลายเป็น 𡅕 )
วันเที่ยวนี้ คนจีนจะงดทำบาป ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด ไม่ทำงานหนัก และจะต้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ ออกเยี่ยม และอวยพร นอกบ้าน
อั่งเปา
อั่งเปา" 红包 เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว จีนกลางออกเสียงว่า "หงเปา" แปลตรงตัวว่า "ซองแดง" แต่ในความเป็นจริง ยุคโบราณของจีนมีการแจกเงินเด็ก ๆ ในบ้านช่วงตรุษจีนเหมือนกัน แต่เป็นรูปแบบของ "เหรียญ" ที่ร้อยต่อกันมาเป็นพวง มีชื่อเรียกว่า "ยาซุ่ยเฉียน" 压岁钱 แปลตรงตัวเลยคือ "เงิน กด อายุ"
มาจากแนวความคิดหลายสาย ดังนี้
ตำนานบทหนึ่งเล่าว่าเป็นเงิน "ติดสินบน" ปีศาจ (สิ่งชั่วร้าย) ที่ชื่อว่า "ซุ่ย" 祟 เป็นอักษรที่พ้องเสียงกับคำว่า "ซุ่ย" 岁 ที่แปลว่าอายุ นึกภาพว่าในยุคโบราณ การแพทย์และยารักษาโรคยังไม่พัฒนาขนาดนี้ สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองกลัวที่สุดคือ ลูกเจ็บป่วย ซึ่งก็เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของสิ่งชั่วร้าย การให้เงินและตั้งชื่อว่า "เงิน กด ปีศาจ" จึงเป็นการแก้เคล็ด
อีกตำนาน คำว่า "ยาซุ่ยเฉียน" 压岁钱 หรือ "เงิน กด อายุ" คือเป็นการกดอายุเอาไว้ไม่ให้ขยับไปไหน หมายความว่าอายุจะได้ยืนยาวขึ้น แม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนแปลงไปอีกหนึ่งปี แล้วมาจนถึงยุคปัจจุบัน ใครควรจะได้รับ "อั่งเปา" หรือ "เงินกดอายุ" กันบ้าง?
เรื่องนี้คนจีนเขาก็สงสัย และมีการรวบรวมเอาไว้ ดังนี้ (แต่ละบ้านคงจะคิดไม่เหมือนกัน)
1.ผู้อาวุโสน้อยที่ยังไม่แต่งงาน
2.เด็กในบ้านที่ยังเรียนหนังสืออยู่
ส่วนคนที่ควรจะแจกอั่งเปาคือ
1.รุ่นพ่อแม่ ลุงป้าน้าอา
2.รุ่นปู่ย่า ตายาย
3.รุ่นลูกหลาน แต่ทำงานแล้ว
สิ่งที่ชาวจีนถือมากคือ ควรให้สองมือ และ รับสองมือ อีกทั้งไม่ควรแกะซองต่อหน้าผู้ให้
新正如意 新年發財 /
การอวยพร จะประมาณนี้ครับ
新正如意 新年发财
แต้จิ๋ว: ซิงเจี่ยยู้อี่ซิงนี้หวกไช้
จีนกลาง: ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาฉาย
ฮกเกี้ยน : ซินเจี่ยหยู่อี่ ซินนี่ฮวดจ๋าย
จีนแคะ : ซินจึ้นหยู่อี๋ ซินเหนี่ยนฟั่ดโฉ่ย
กวางตุ้ง : ซันจิงจู๋จี่ ซันหนินฟัดฉ่อย
#แปลว่า : ขอให้ประสบโชคดี ขอให้มั่งมีปีใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น