วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ตัวจริง เปาบุ้นจิ้น “ยมราชเปาบุ้นจิ้น สินบนซื้อไม่ได้” คนดีจริงหรือไม่?

เปาเจิ่ง  หรือเปาบุ้นจิ้น คือ ข้าราชการที่โด่งดังที่สุดในประเทศจีน

เปา เจิ่ง (จีนกลาง) หรือ   เปาจิ้น (จีนฮกเกี้ยน) (包拯; 11 เมษายน ค.ศ. 999 — 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1062) แต่ชื่อในทาง วรรณกรรมจะเรียก เรียก เปา เหวิน เจิ่ง (จีนกลาง) หรือ เปาบุ้นจิ้น (จีนฮกเกี้ยน (包文拯) เป็นข้าราชการชาวจีนในรัชสมัยฮ่องเต้ ซ่งเหรินจง แห่งราชวงศ์ซ่ง

ปัจจุบัน เปา เจิ่ง ได้รับการสดุดีในจีนแผ่นดินใหญ่ให้เป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรม ของชาวจีน เรื่องราวชีวิตของเขาได้รับการดัดแปลงเป็นวรรณกรรมแนวสืบสวนสอบสวนและกำลังภายในมาแต่โบราณ โดยเฉพาะเรื่อง 7 ผู้กล้าผู้ผดุงคุณธรรม ซึ่งได้รับความนิยมมาตราบทุกวันนี้



โดยตำนานกระแสหลัก เปา เจิ่ง มักได้รับการพรรณนาว่า เขามักสวมชุดเป็นตุลาการ ใบหน้าดำคล้ำ มีรูปจันทร์เสี้ยวอยู่บนหน้าผาก เหล่าคนจีนถึงกับเชิดชูบูชา เขาราวกับเป็นเทพเจ้า เลยทีเดียว แต่ประวัติศาสตร์ระบุว่า ตัวจริงเขาหน้าขาว และรุปหล่อ อีกด้วย แถมคำวิพากย์ว่า เขาเป็นคนดีจริงหรือไม่?

ในประวัติศาสตร์
เปา เจิ่ง เกิดในครอบครัวบัณฑิตแห่งหลูโจว (廬州) ครอบครัวของเขาเป็นชนชั้นกลาง แม้บิดามารดาสามารถส่งเสียให้เขาเล่าเรียนได้ตลอดรอดฝั่ง  เนื่องจากเปา เจิ่ง เติบโตขึ้นในท่ามกลางสังคมชั้นล่างซึ่งเป็นพลเมืองหลักของประเทศ เขาจึงรับรู้และเข้าใจปัญหาของคนชั้นล่างเป็นอย่างดี

ค.ศ. 1028 เขาอายุถึง 29 ปี เปา เจิ่ง สามารถสอบขุนนางชั้นสูงสุดผ่านทำให้เขาได้เป็น ราชบัณฑิตชั้น จิ้นชื่อ (進士) และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการเทศมณฑลจิ้นชาง (建昌县) แต่เขาขอผลัดผ่อนออกไปเป็นระยะเวลา 10 ปีก่อน เพื่อกลับบ้านเกิดไปดูแลบิดามารดาที่อายุมาก  (ทำให้บางตำนานออกมาแก้ว่า เขาลาออกจากราชการก่อนที่เขาจะกลับมารับราชการใหม่อีกรอบ  เพื่อป้องกันข้อครหาว่า เขารับเงินเดือน 10 ปี แต่ไม่ทำงาน)

เวลาที่เขาอาศัยที่บ้านเกิด เขาสนิทสนมกับ  หลิว ยฺวิน (刘赟) ผู้ว่าการหลูโจว (บางเล่มกล่าวว่าเป็นผู้พิพากษา) ซึ่งมีชื่อเสียงว่า เป็นทั้งกวีเอกและขุนนางใจซื่อมือสะอาด ทั้งสองคุยถูกคอกัน ทำให้ เปา เจิ่ง ได้รับอิทธิพลเรื่องการมีจิตใจกรุณาต่อราษฎรมาจากหลิว ยฺวิน และยึดมั่นในลัทธิขงจื้อ

ชีวิตราชการ
ผู้ว่าการเทียนฉาง
เมื่อบิดามารดาเสียชีวิตใน ค.ศ. 1038 และปลงศพตามประเพณีแล้ว เปา เจิ่ง วัย 39 ปี  กลับมารับใช้แผ่นดิน เริ่มแรกเขาได้เป็นผู้ว่าการนครเทียนฉาง (天长市) ซึ่งไม่ไกลจากหลูโจวบ้านเกิด

มีบันทึกว่า ครั้งนั้น ชาวนาผู้หนึ่งมาร้องทุกข์ว่า วัวของตนถูกลอบตัดลิ้น เปา เจิ่ง จึงสั่งให้เขากลับบ้านไปฆ่าวัวนั้นทิ้งเสีย แต่อย่าแพร่งพรายให้ผู้ใดทราบ ตามกฎหมายสมัยนั้น การฆ่าสัตว์เป็นสิ่งต้องห้าม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ ชาวนาผู้นั้นเมื่อได้รับอนุญาตก็กลับไปฆ่าวัวตามคำสั่ง วันต่อมา ชายอีกผู้หนึ่งมาฟ้องว่า ชาวนาข้างบ้านลอบฆ่าวัว เปา เจิ่ง ตบโต๊ะตวาดว่า "เจ้าลักลอบตัดลิ้นวัวเขาแล้วยังมาฟ้องกล่าวหาเขาอีก" ชายผู้นั้นตกใจที่เปา เจิ่ง ล่วงรู้ความจริง ก็รับสารภาพว่า ตนผิดใจกับชาวนาคนนี้มาแต่เดิมแล้ว จึงกลั่นแกล้งตัดลิ้นวัวเขา เขาจะได้จำใจฆ่าวัวนั้นทิ้ง และจะได้มีความผิดฐานฆ่าปศุสัตว์

ผู้ว่าการตฺวันโจว
ใน ค.ศ. 1040 เปา เจิ่ง ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าการตฺวันโจว (端州) ทางใต้  ซึ่งเป็นแหล่งขึ้นชื่อด้านผลิตจานฝนหมึก เปา เจิ่ง ตรวจสอบพบว่า ผู้ว่าการคนก่อน ๆ มักขูดรีดจานฝนหมึกจำนวนมากจากราษฎร เมื่อทำราชการอยู่ที่นี่ เปา เจิ่ง จึงใช้จานฝนหมึกเพียงอันเดียว โดยกล่าวว่า คนเราใช้ที่จานฝนหมึกเพียงเท่านี้ก็เพียงพอ ครั้น ค.ศ. 1043 เขาต้องย้ายไปท้องที่อื่น ประชาชนรักใคร่ก็นำจานฝนหมึกมามอบให้เป็นของขวัญมากมาย เปา เจิ่ง ไม่รับไว้เลย และโยนจานฝนหมึกที่ใช้ประจำอยู่นั้นทิ้งลงสู่แม่น้ำกวางตุ้ง ไม่ยอมพกไปด้วยแม้แต่อันเดียว

ผู้ตรวจสอบ
ใน ค.ศ. 1044 เปา เจิ่ง ได้รับการเรียกเข้า เมืองหลวง คือ เมืองไคเฟิง (開封) เพื่อดำรงตำแหน่งผู้ตรวจกำกับ (監察御史) ภายใน 2 ปี เขาได้ถวายฎีกาต่อฮ่องเต้ ซ่งเหรินจง อย่างน้อย 13 ฉบับ โดยเป็นการกล่าวหา ทหาร เจ้าหน้าที่ภาษี ขุนนาง ขันทีและข้าราชการ

กล่าวหาผู้คน
ระหว่างที่เปา เจิ่ง ทำราชการอยู่ในราชสำนักไคเฟิงนั้น จักรพรรดิเหรินจง (仁宗) ประสงค์จะตั้งพระชายาจากสกุลจาง (张) ขึ้นเป็นมเหสี แต่พระพันปีหลิว (刘太后) พระราชมารดา คัดค้าน

กระนั้น จักรพรรดิก็ทรงอวยยศให้แก่ จาง เหยาจั่ว (張堯佐) ลุงของพระชายาจาง อย่างรวดเร็ว ไม่กี่ปีก็ได้เลื่อนจากขุนนางชั้นล่างขึ้นเป็นขุนนางผู้ใหญ่ ในกระทรวงการคลัง ในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1050 เปา เจิ่ง และผู้ตรวจกำกับอีกสองคน จึงร่วมกันถวายฎีกากล่าวโทษ จาง เหยาจั่ว แต่จักรพรรดิทรงเมินเฉย และสี่วันให้หลังยังประทานยศให้แก่ น้องสาวของพระชายา 

แต่ เปา เจิ่ง ไม่ลดละความพยายาม เขาถวายฎีกาอีกฉบับหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว อธิบายว่า

ตั้งแต่ก่อตั้งราชวงศ์ซ่ง การแต่งตั้งรัฐมนตรีบริหารประเทศล้วนมีความสามารถ โดยเฉพาะ ชายผู้นี้ช่างเป็นอันตรายต่อภาวะการเงินของประเทศ  ข้ารู้สึกเจ็บปวด เจ็บปวดจริงๆ"

เปาเจิ้ง พรรณนาถึงความไม่เหมาะสมของ จาง เหยาจั่ว ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวการคลัง ฮ่องเต้ ซ่งเหรินจง จึงสั่งปลดจางเหยาจั่ว ออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง แต่แต่งตั้งให้ จางเหยาจั่ว รับตำแหน่ง  ผู้บัญชาการทหาร 4 ตำแหน่ง พร้อมกัน โดยหนึ่งในนั้นคือ ตำแหน่งผู้บัญชาการวังหลวง

เปา เจิ่ง จึงถวายฎีกาอีกฉบับ ลงวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1050 ว่า ถ้าทรงขืนจะตั้งจาง เหยาจั่ว ให้ได้ ไม่รับฟังคำปรึกษาที่ถวายแล้ว ก็ขอให้ถอดที่ปรึกษาผู้นี้ออกจากตำแหน่งเสียเถิด ในการประชุมคราวถัดมาในท้องพระโรง เปา เจิ่ง และเสนาบดีอีกเจ็ดคน ยังเปิดประเด็นร้อนเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของจาง เหยาจั่ว ทำให้จักรพรรดิทรงยอมถอดจาง เหยาจั่ว ออกจากตำแหน่งในที่สุด

ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจกำกับ เปา เจิ่ง ได้สั่งลงโทษ ทั้งลดขั้นและไล่ออก แก่ขุนนางผู้ใหญ่ 30 คน ฐานทุจริต รับสินบน และ ละเลยต่อหน้าที่  เปา เจิ่ง ยังประสบความสำเร็จในการทูลคัดค้านเสมอ ผิดกับบุคคลอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ที่คนคัดค้านฮ่องเต้ส่วนใหญ่จะถูกลงโทษสถานหนัก เพราะ ทูลคัดค้านแม้ในเรื่องเล็กน้อย

ผู้ว่าการไคเฟิง
(ไคเฟิง หรือไคฟง อดีตเป็นเมืองหลวง ต่อมาถูกน้ำท่วมบ่อย ทำให้ลดระดับเป็นเพียงอำเภอ ในเมืองเจิ้งโจว ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน)

ใน ค.ศ. 1057 เปา เจิ่ง ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าเมืองหลวง ไคเฟิง และผู้พิพากษา ซึ่งเวลานั้นเรียกว่า เปี้ยนเหลียง (汴梁) เขาดำรงตำแหน่งนี้แค่ปีเดียว  เปา เจิ่ง ได้ปฏิรูปการปกครองหลายประการ เพื่อให้ราษฎรสามารถเข้าถึงผู้ว่าการได้โดยตรง ทำให้เขาได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นอันมาก

แต่ชีวิตการทำงานของเขาหลังพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการไคเฟิงแล้วกลับเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างยิ่ง เป็นต้นว่า เมื่อเขาปลด จาง ฟางผิง (張方平) ซึ่งควบ 3 ตำแหน่งสำคัญ  เขากลับไปรับการแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่งเหล่านั้นแทน ทำให้ โอวหยาง ซิว (欧阳修) ประณามเขาอย่างรุนแรง

คนจีนในปัจจุบัน บางคนยัง วิจารณ์ว่า ยุคสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือนั้น เงินเดือนของเขานั้นเข้าขั้นสูงมากพอที่จะปฎิเสธเงินสินบน ขณะเดียวกันน ประวัติของเขาก็มีแต่เรื่องที่ เปา เจิ่ง ร้องเรียน กล่าวหาผู้คนมากมายมาโดยตลอด บางครั้ง เขาร้องเรียนโดยไม่มีหลักฐานใดๆ มาสนับสนุนอีกด้วย โดยเชื่อกันว่า่ เขานั้นเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมือง กวียุคนั้นถึงกลับกล่าวหา เขาว่าเป็นเพียง "การเลี้ยงวัว เพื่อไล่ควาย" เท่านั้น  เปรียบกับนักการเมืองปัจจุบัน ก็จะพบว่า นักการเมืองบางคนจะคอยร้องเรียนเรื่องเล็กน้อย เพื่อใช้ กำจัดคู่แข่งทางการเมือง

อย่างไรก็ดี หลายคนแย้งว่า เพราะเมืองไคเฟิง เป็นเมืองหลวงทำให้มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนชอบเพิกเฉยต่อกฎหมาย ทำให้มีเรื่องร้องเรียนมากมาย และนั่นเองทำให้ เปาเจิ้งนั้น มีโอกาสที่จะกำจัดข้าราชการที่ปฎิบัติไม่ถูกกฎหมายจำนวนมาก ไม่ใช่เพราะเขาได้รับคำสั่ง หรือเขามีนิสัยชอบร้องเรียน

นอกจากนี้ เรื่องราวความซื่อสัตย์ต่างๆของเขา กลับเกิดในตำนานในแต่ละช่วง เช่น ราชวงศ์หมิง (300 ปีถัดมา) เริ่มสร้างภาพให้ เปาเจิ่งเป็นเทพเจ้าท้องถิ่น ต่อมา  ยุคราชวงศ์หยวน (ถัดมาอีก 800-900 ปี) เช่น การเล่นงิ้ว และเรื่องเล่าต่างๆ เพราะเชื่อว่า ยุคราชวงศ์หยวนนั้น ข้าราชการโกงกินกัน จึงได้สร้างเขาขึ้นมาเป็น  เทพเจ้า โดยเฉพาะเรื่องราว "กลางวันรับราชการอยู่นโลกมนุษย์ กลางคืนรับราชการเป็นยมราชอยู่ในนรก"  ก็เกิดในช่วงนี้  ยิ่งบทนิยายในยุคราชวงศ์ชิงยิ่งแตกต่างจากความจริงอย่างมาก โดยเฉพาะ 7 ผุ้กล้าผู้ผดุงคุณธรรม ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง

ตำแหน่งอื่น ๆ
หลังจากนั้น เปา เจิ่ง ได้ดำรงตำแหน่งอีกหลายตำแหน่ง โดยมากเกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง เขายังได้เป็นเสนาบดีคลังอยู่ช่วงหนึ่ง

ถึงแม้เขาจะมีตำแหน่งใหญ่โตในวงราชการ เปา เจิ่ง กลับใช้ชีวิตเรียบง่ายจนเป็นที่เลื่องลือ เขายังมีชื่อเสียงในการตรวจสอบการทุจริต กับ อุปนิสัยที่เข้มงวดกวดขัน และไม่อดทน หรือ รอมชอบต่อความอยุติธรรมและการฉ้อฉล บุคลิกภาพของเปา เจิ่ง ก็เป็นที่ขึ้นชื่อเช่นกัน มีบันทึกว่า เปา เจิ่ง วางตัวเคร่งครัดเคร่งขรึม ถึงขนาด คนทั่วไปพูดกันว่า รอยยิ้มบนใบหน้าของเขา หายากยิ่งกว่าน้ำใสในแม่น้ำฮวงโห (ฮวงโหคือแม่น้ำเหลือง)

กิตติศัพท์เกี่ยวกับความเที่ยงตรงของเปา เจิ่ง นั้นเลื่องลือไปทั่วแผ่นดิน ชื่อเขาจึงกลายเป็นไวพจน์ของคำว่า "ตงฉิน" (忠臣) ข้าราชาการที่ซื่อสัตย์ ขณะที่ตัวเขาเองก็กลายเป็นหัวเรื่องยอดนิยมในวรรณกรรมและอุปรากรอย่างรวดเร็ว

อสัญกรรม
เปา เจิ่ง ถึงแก่อสัญกรรมที่ไคเฟิงเมื่อ ค.ศ. 1062  จักรพรรดิเหรินจง ทรงรับศพเขาไว้ในพระราชานุเคราะห์ และประทานสมัญญาแก่เขาว่า "เซี่ยวซู่" (孝肅) แปลว่า "กตัญญูปูชนีย์บุคคล" ก่อนเสียชีวิต เปา เจิ่ง สั่งเสียไว้ว่า "ลูกหลานของข้าคนใดเป็นข้าราชการแล้วกินสินบาตรคาดสินบน ห้ามกลับมาเหยียบบ้านข้า และห้ามฝังศพในสุสานของตระกูลเด็ดขาด ใครไม่นับถือคุณงามความดีอย่างข้า ข้าไม่นับเป็นลูกเป็นหลาน"

และ ถูกฝังที่ Daxingji ในปี 1063 ก่อนที่จะมีการสร้างหลุมฝังศพของเขาขึ้นใหม่ในปี 1199

ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม มีกระแสว่า เปาเจิ้ง นั้น เป็น  "ขุนนางรุ่นเก่าที่ถุกมองว่า เป็นพวกศักดินา" และ "กล่าวหาว่า เปาเจิ้ง นั้น เป็นคนหลอกลวง" ทำให้ สุสาน เปาเจิ่ง ถูกปล้นและทำลายรูปปั้นของเขา

มีนาคม ปี 1973 เนื่องจาก มีการอนุญาตให้สร้างสิ่งปลูกสร้างในบริเวณนั้น ทำให้ต้องมีการย้ายสุสาน โดยมีการตั้ง ผู้ทำความสะอาดสุสาน เปาเจิ่ง เข้าตรวจสอบสุสานตระกูลเปา ก็พบว่า ศพของเปาเจิ่ง และภรรยาคนที่สอง นั้นเสียหาย ส่วนศพของ ลูกหลานของเขานั้นอยู่ในสภาพดี  โดยหากไม่ย้ายศพก็จะถูกทำลาย

ลุกหลานของเขารุ่น 34 จึงต้องนำซากศพของตระกูลจึงต้องแอบซ่อนไว้ และส่งบางส่วนไปปักกิ่งเพื่อทำงานวิจัยด้านนิติเวช ก่อนจะมีการสร้าสุสานขึ้นใหม่  สุสานเปากง (包公墓园) ในเหอเฟย  เหอหนานในปี 1985 และเสร็จสมบูรณ์ในปี 1987  เพื่อเก็บรักษาซากศพของเปาเจิ่ง สำหรับศพที่เหลือของ เปาเจิ่ง นั้น ลูกหลานของเขายังคงเก็บรักษาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทำลายซากศพซ้ำรอยอีก

เรื่องเล่าขาน
ส่วนใหญ่แล้วมักเล่าขานถึงเปา เจิ่ง ในบทบาทเป็นตุลาการ ในงิ้วผู้แสดงเป็นเปา เจิ่ง มักทาหน้าดำ และมีปานเป็นรูปเสี้ยวจันทร์อยู่บนหน้าผาก

คำอธิบายแรกคือ

ในการแสดงงิ้ว พวกขุนนางตัวโกงทั้งหลายจะมีหน้าขาวเป็นสัญลักษณ์ เลยใส่สีดำลงบนใบหน้าท่านเปาเพื่อแบ่งแยกออกมาให้ชัดเจน เสี้ยวพระจันทร์ก็อารมณ์ประมาณว่าท่านคือแสงสว่างในความมืด

คำอธิบายที่สองคือ

บุคลิกภาพของเปา เจิ่ง ที่เป็นคนเคร่งขรึม ทำให้เขาได้รับฉายาว่า  "เปาหน้าเหล็ก"  ต่อมาก็เปลี่ยนไปเป็น "เปาหน้าดำ" เปรียบเปรยว่า ไม่มีรอยยิ้มให้แก่ความฉ้อฉลทั้งปวง  อย่างไรก็ดี ในตำนานก็มีการระบุว่า เปา เจิ่ง นั้นใช้วิธีทรมาณผู้ต้องหาให้รับสารภาพ แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนก็เชื่อว่า อาจสับสนกับ ลูกหลานเขารุ่นที่ 9 คือ เปาบาวุ๋ย ก็เป็นได้


วรรณกรรมเรื่อง 7 ผู้กล้า  5 ผู้ทรงธรรม
ในวรรณกรรมหลักที่ใช้อ้างอิง ซึ่งแต่งขึ้นในยคราชวงศ์ชิง สมัยที่ซุสีไทเฮา ปกครอง  ปรากฏว่า เปา เจิ่ง มีผู้ช่วยอยู่ 6 คน คือ จั่น เจา (展昭) เป็นองครักษ์ (จอมยุทธ์ใต้ ฉายา แมวหลวง)  กงซุน เช่อ (公孙策) เป็นเลขานุการ และเจ้าพนักงานตำรวจสี่นาย คือ หวัง เฉา (王朝) หม่า ฮั่น (馬漢) จาง หลง (張龍) และเจ้า หู่ (趙虎) ทั้งเจ็ดคนนี้เป็นสัญลักษณ์ของความสุจริตและเที่ยงธรรม


ฮ่องเต้พระราชทานอาญาสิทธิ์ใช้ "ประหารก่อน รายงานทีหลัง" แก่เปาเจิ่ง กงซุนเช่อ จึงได้ออกแบบ เครื่องประหารทั้ง 3 หลังประกอบด้วย

เครื่องประหารหัวสุนัข หรือฉบับแปลไทยเรียก "มีดตัดหัวสุนัข" (狗頭鍘) เป็นรูปสุนัข สำหรับประหารชีวิตสามัญชน

เครื่องประหารหัวพยัคฆ์ หรือฉบับแปลไทยเรียก "มีดบั่นศีรษะพยัคฆ์" (虎頭鍘) เป็นรูปเสือ สำหรับประหารชีวิตข้าราชการ

เครื่องประหารหัวมังกร หรือฉบับแปลไทยเรียก "มีดปลิดเศียรมังกร" (龍頭鍘) เป็นรูปมังกร สำหรับประหารชีวิตพระประยูรญาติ

จักรพรรดิเจินจงยังพระราชทานสิ่งสำคัญอีกหลายสิ่งให้แก่เปา เจิ่ง เป็นต้นว่า พระแส้ทองคำ (金黄夏楚) ใช้เฆี่ยนพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ปัจจุบันได้ และกระบี่อาญาสิทธิ์ (尚方寶劍) เมื่อเชิญออกแสดงแล้ว ผู้คนทั้งปวงต้องเชื่อฟังประหนึ่งเป็นพระราชโองการ

ในเรื่อง เจ็ดผู้กล้า ผู้ทรงธรรม นั้น เปา เจิ่ง ยังเป็นพระสหายขององค์ชายแปด หรืออ๋องแปด (八王; Eighth Prince) พระอนุชาของจักรพรรดิเจินจง และมักหมางใจกับผัง จี๋ ผู้เป็นราชครู (太師; Grand Tutor) และเป็นพระศวศุระของจักรพรรดิเหรินจง เนื่องจากเปา เจิ่ง พิพากษาประหารชีวิตผัง อฺวี้ ผู้เป็นบุตร แต่ในทางประวัติศาสตร์ ไม่ปรากฏเหตุผลที่ผัง จี๋ ปฏิบัติต่อเปา เจิ่ง อย่างศัตรูแต่ประการใด

เปาบุ้นจิ้น ปะทะ ขุนศึกตระกูลหยาง
เปา เจิ้ง อยู่ ในรัชสมัยของ ซ่งเหรินจง(ุ6) แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ  หากนึกไม่ออก จะเป็นยุคหลานของขุนศึกตระกูลหยาง เรื่องราวของขุนศึกตระกูลหยางจะอยู่ในรัชสมัยของ ซ่งไทจง (2) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ห่างกันประมาณ 20-50 ปี ดังนั้น นิยายเรื่อง เปาปุ้นจิ้น ขุนศึกตระกูลหยาง ไม่น่าจะมีจริง 

ความเก่ง
ผมให้ตี๋เหรินเจี๋ย เหนือกว่า เปา เจิ่ง นิดๆ ครับ เพราะ ตี๋เหรินเจี๋ย สอบจองหงวนได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ขณะที่ เปา เจิ่ง นั้น สอบข้าราชาการระดับสูง ได้ขณะอายุ 29 ปี แต่ความเที่ยงตรง จริงจังนั้น ต้องยกให้เปาเจิ่ง ครับ ถึงขนาดหน้าตารูปหล่อ ตีหน้าเครียดจนหน้าดำ และเชื่อว่า พระจันทร์เสี้ยว น่าจะมาจากการขมวดคิ้วจนเส้นขึ้นมากกว่า เนื่องจาก ถ้าหน้าเขาแตกต่างจากคนทั่วไปขนาดนี้ ต้องมีในบันทึกประวัติศาสตร์บ้าง แต่มันกลับไม่ปรากฎ และ ส่วน รูปพระจันทร์เสี้ยวนั้น เชื่อว่า มาจากฉายา เปาชิงเทียน (เปาเปิดฟ้า) ที่มีดวงตาที่ 3 เพื่อเพ่งดูกรรมของแต่ละคนได้ ซึ่งมาจากบทละครมากกว่า

คดีของเปา เจิ่ง ซึ่งงิ้วนิยมเล่น จะมี 2 เรื่อง คือ แมวป่าสับเปลี่ยน พระโอรส กับ ประหารราชบุตรเขย
-----------------------------------
แมวป่าสับเปลี่ยนพระโอรส
(狸貓換太子; Wild Cat for the Crown Prince)
ในรัชกาลพระเจ้าเจินจง สนมหลี่ (李宸妃) ให้ประสูติกาลพระโอรส สนมหลิว (劉宸妃) ริษยา จึงให้กัว ไหฺว (郭槐) ขันที สั่งโค่ว จู (寇珠) นางกำนัล เอาซากแมวป่าถลกหนังมาสับเปลี่ยนพระโอรส แล้วนำพระโอรสไปฆ่าหมกสะพานนทีทอง (金水橋) แต่โค่ว จู จงรักภักดี ไม่กล้าฆ่าพระโอรส ขณะนั้น เฉิน หลิน (陳琳) ขันที กำลังถือกล่องผลไม้ที่พระเจ้าเจินจงพระราชทานเป็นของขวัญวันสมภพอ๋องแปด พระอนุชา มาพบเข้า จึงช่วยกันเอาผลไม้ออก เอาพระโอรสใส่กล่อง แล้วเฉิน หลิน ขันที นำออกไปมอบให้อ๋องแปดเลี้ยงดู เวลานั้น สนมหลี่ต้องพระราชอาญาให้ขังไว้ในตำหนักเย็น เพราะทรงเชื่อว่านางคลอดปิศาจแมวป่า ฝ่ายสนมหลิวก็ให้กำเนิดพระโอรสในเวลาถัดมา จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นอัครมเหสีที่ตำแหน่งจักรพรรดินี พระนางหลิวทูลยุยงให้พระเจ้าเจินจงรับสั่งประหารสนมหลี่ ก็โปรดให้ตามนั้น แต่ชาวตำหนักเย็นมีใจเมตตาแก่สนมหลี่ อฺวี๋ จง (余忠) ขันที เสนอตัวเข้าตายแทน ทั้งได้ความช่วยเหลือของฉิน เฟิง (秦风) ขันที สนมหลี่จึงหลบหนีจากพระราชวังต้องห้ามออกมาสู่โลกภายนอกได้ แต่ก็ต้องตกระกำลำบาก ทั้งมีพระหทัยคิดถึงพระโอรสกันแสงไม่เว้นวันจนพระเนตรมืดบอด ขณะเดียวกัน ด้วยบาปของพระนางหลิว พระโอรสที่พระนางประสูติจึงพระชันษาสั้น พระเจ้าเจินจงไร้พระโอรสอีก อ๋องแปดจึงส่งพระโอรสที่ตนได้อภิบาลไว้เข้ามาเป็นรัชทายาทมิให้ขาดสายพระโลหิต รัชทายาทนั้นต่อมาได้เสวยราชย์เป็นพระเจ้าเหรินจง

กว่ายี่สิบปีให้หลัง เปา เจิ่ง รับพระราชโองการไปตรวจสอบการแจกจ่ายเสบียงของผัง อฺวี้ และกลับเมืองหลวงโดยผ่านมาตำบลที่สนมหลี่อยู่ สนมหลี่จึงเข้าร้องทุกข์ แต่เนื่องจากกาลผ่านมาเนิ่นนาน ทั้งผู้เกี่ยวข้องก็ตายสิ้นแล้ว เพื่อให้คดีคลี่คลาย จึงมีทางเดียว คือ ให้กัว ไหฺว ขันที สารภาพ เปา เจิ่ง ไต่สวนกัว ไหฺว ยามวิกาล โดยให้สตรีนางหนึ่งแต่งกายเป็นผีโค่ว จู ส่วนเปา เจิ่ง เองแต่งเป็นมัจจุราช และจัดศาลเป็นนรก กัว ไหฺว เกรงกลัวว่า ความชั่วของตนเองนั้นคนไม่รู้ แต่ภูตผีเทวดารู้ จึงรับสารภาพโดยตลอด และถูกเปา เจิ่ง พิพากษาประหารชีวิต แต่แม้คดีกระจ่างแล้ว พระเจ้าเหรินจงกลับทรงลังเลพระทัยในการเลือกระหว่างผู้ให้กำเนิดกับผู้เลี้ยงดู เปา เจิ่ง จึงทูลอบรมจนทรงระลึกผิดชอบได้ แล้วเปา เจิ่ง สั่งให้โบยพระเจ้าแผ่นดินฐานอกตัญญูซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ชุดมังกรฉลองพระองค์ถูกโบยแทน ที่สุดแล้ว พระเจ้าเหรินจงรับสั่งให้เอาพระนางหลิวไปประหารชีวิตด้วยการทอดในกระทะน้ำมันเดือด แต่งิ้วสมัยหลังนิยมเล่นว่า พระนางหลิวผูกพระศอปลิดพระชนมชีพเอง ครั้นแล้ว พระเจ้าเหรินจงเสด็จไปรับสนมหลี่พระมารดากลับคืนสู่พระราชวัง และเลื่อนพระนางขึ้นเป็นพระพันปีพระองค์ใหม่

ประหารราชบุตรเขย
(鍘美案; Case of Executing Prince Consort)
เฉิน ชื่อเหม่ย์ (陳世美) เป็นบัณฑิตอยู่ในชนบท สมรสกับฉิน เซียงเหลียน (秦香莲) และมีบุตรด้วยกันสองคน คู่สามีภรรยาฐานะยากจน ต้องอดทนกัดก้อนเกลือกินด้วยกันตลอดมา ภายหลัง เฉิน ชื่อเหม่ย์ ไปสอบขุนนางในเมืองหลวงและได้อันดับหนึ่ง จึงได้รับการแห่แหนไปรอบเมืองหลวง ขณะนั้น พระกนิษฐภคินีพระเจ้าเหริน จง ทอดพระเนตรเห็นเฉิน ชื่อเหม่ย์ รูปงาม ก็มีพระทัยปฏิพัทธ์ เฉิน ชื่อเหม่ย์ ทูลความเท็จว่า ตนยังโสด พระเจ้าเหรินจงจึงพระราชทานสมรสให้ และทรงตั้งให้เขาเป็นเขยหลวง ฐานันดรศักดิ์ว่า "ราชบุตรเขย" (驸马)

หลายปีต่อมา ทุพภิกขภัยบีบให้ฉิน เซียงเหลียน ต้องพาลูกเข้ามาตายดาบหน้าที่เมืองหลวง ณ ที่นั้น ฉิน เซียงเหลียนทราบความจริงเกี่ยวกับเฉิน ชื่อเหม่ย์ นางจึงไปร้องขอให้เขาช่วยเหลือลูกของเขาเองด้วย แต่ราชบุตรเขยบอกปัด ฉิน เซียงเหลียน จึงไปฟ้องคดีต่อเปา เจิ่ง ว่า ราชบุตรเขยทอดทิ้งลูกเมียและหลอกลวงเบื้องสูงเข้าสู่พระราชวงศ์ เปา เจิ่ง พิสูจน์จนแน่ชัดว่า คำฟ้องของฉิน เซียงเหลียน เป็นจริงทุกประการ แต่เฉิน ชื่อเหม่ย์ คงยืนกระต่ายขาเดียวไม่รับรู้ และใช้ให้หาน ฉี (韓琪) องครักษ์ ไปฆ่าฉิน เซียงเหลียน พร้อมบุตรทั้งสอง เสียให้ตายทั้งหมด แต่หาน ฉี มีมนุษยธรรม จึงชี้ทางให้ฉิน เซียงเหลียน กลับไปหาเปา เจิ่ง ก่อนจะใช้ดาบเชือดคอตนเองตาย เปา เจิ่ง สั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมราชบุตรเขยมาขึ้นศาล พิจารณาแล้วพิพากษาประหารชีวิต สมาชิกพระราชวงศ์เข้าแทรกแซง และข่มขู่จะใช้อิทธิพลทำให้เปา เจิ่ง หลุดจากตำแหน่ง แต่เปา เจิ่ง ไม่เกรงกลัว และสั่งให้เจ้าพนักงานปฏิบัติตามคำพิพากษาเพื่อรักษากฎหมาย

-------------

ท่านเปาตัวจริงที่มีบันทึกไว้ ผิวคล้ำเล็กน้อย สูงประมาณ 160 ซม. หน้าตาพอใช้ได้ ที่ชอบสร้างให้ท่านมีหน้าดำก็เพราะ ในการแสดงงิ้ว พวกขุนนางตัวโกงทั้งหลายจะมีหน้าขาวเป็นสัญลักษณ์ เลยใส่สีดำลงบนใบหน้าท่านเปาเพื่อแบ่งแยกออกมาให้ชัดเจน เสี้ยวพระจันทร์ก็อารมณ์ประมาณว่าท่านคือแสงสว่างในความมืด แสดงถึงความเถรตรง ไม่มีนอกไม่มีใน ไม่กลัวผู้มีอิทธิพล และทำเพื่อประชาชนค่ะ
ที่มา http://data.book.hexun.com/chapter-18577-2-5.shtml

เคยอ่านหนังสือเล่มนึง เขาบอกว่าด้วยความที่ท่านเป็นคนยิ้มยาก คนก็เลยเรียกท่านว่าเปาหน้าดำค่ะ (มีฉายาอื่นๆอีกนะคะ) กล่าวกันว่า ทำให้น้ำในแม่น้ำเหลืองใสสะอาดยังง่ายกว่าทำให้ท่านเปายิ้ม (แม่น้ำเหลืองเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญต่อชาวจีนมาก คล้ายๆแม่น้ำเจ้าพระยาของไทยเรา น้ำในแม่น้ำนี้มีทรายปะปนอยู่มาก กระแสน้ำค่อนข้างเชี่ยว มีสีเหลืองขุ่น จึงได้ชื่อว่าแม่น้ำเหลืองค่ะ)

ข้อมูลอีกอย่างที่ถูกเข้าใจผิด คือท่านมีครอบครัวที่อบอุ่นเหมือนคนอื่นๆนี่แหละค่ะ ไม่ได้เกิดมาตัวดำแล้วถูกแม่ทิ้ง ในทางตรงข้าม พ่อแม่ท่านเปารักท่านเปามากๆเลยค่ะ ท่านก็ขยันเรียน อ่านหนังสือเตรียมสอบเหมือนเด็กหนุ่มทั่วๆไป ท่านสอบเข้ารับราชการได้ครั้งหนึ่งแล้ว แต่ด้วยความที่พ่อแม่แก่แล้ว ไม่อยากให้ท่านเปาอยู่ห่างกาย ท่านเปาเลยลาออกมาดูแลพ่อแม่ จนท่านทั้งสองเสียชีวิต จากนั้นก็ไว้ทุกข์แล้วจึงกลับมารับราชการ (หนังสือบอกว่ารวมทั้งหมด ใช้เวลาประมาณ 10 ปีค่ะ) ท่านแต่งงานด้วยนะคะ มีเมีย 2 คน คนแรกตายแล้วจึงแต่งคนที่สอง มีลูกชาย 2 คน ลูกสาว 2 คน ค่ะ

ชาวบ้านได้กล่าวกันอย่างนี้ว่า 暗中行贿疏不通关系的人,有阎罗王和包老头。คนที่ไม่สามารถยัดเงินใต้โต๊ะได้ มีเพียงยมบาลและท่านเปา ละครก็เอาไปสร้างว่าท่านเป็นยมบาลซะเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น