วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ปริศนาธรรม ไซอิ๋ว ตอนที่ 10 ตาเฒ่าอ๊วง

ปริศนาธรรม ไซอิ๋ว ตอนที่ 10 ตาเฒ่าอ๊วง



เนื้อเรื่องตามไซอิ๋ว
คณะเดินทางมาถึงบ้านหลังหนึ่ง พบตาเฒ่าอ๊วงกำลังนั่งภาวนา จึงได้เข้าไปขอพักสักหนึ่งคืน และได้ถามทางไปไซที ตาเฒ่าก็ส่ายศีรษะทันที และบอกว่า ทางไปไซทีนั้นยากลำบากมาก หากอยากไปอาราธนาพระไตรปิฎกแล้ว ท่านจงกลับไปยังทิศตะวันออกเถอะ (ทั้งหมดกำลังเดินทางไปทิศตะวันตก) ที่นั่นท่านอาจจะได้พบพระคัมภีร์ อันจะไปไซทีนั้นคงไปไม่ถึงแน่ๆ

พระถังจึงถามซ้ำอีกครั้งว่า ไซทีอยู่ทางทิศตะวันตกไม่ใช่หรือ ตาเฒ่าก็ยังตอบว่า กลับไปทางตะวันออกเถอะ คัมภีร์อาจอยู่ที่นั่น เห้งเจียนั้นโมโหมากจึงได้บอกตาเฒ่าว่า ตาเฒ่าไม่ให้พักก็ไม่เป็นไร ทำไมต้องมากวนพวกเราด้วย ตาเฒ่านั้นบอกว่า “เด็กน้อย เจ้าไม่สามารถสู้กับเหล่าปีศาจได้หรอก“ เห้งเจียได้ยินเลย โอ้อวดว่า ตาเฒ่าอย่างเจ้าอายุยังนับว่าเป็นหลานข้าด้วยซ้ำ แล้วก็โอ้อวดว่า ตนเองนั้นเก่งเพียงใด เคยไปอาละวาดบนสวรรค์มาแล้วด้วย ทำไมข้าต้องกลัวเหล่าปีศาจ

ตาเฒ่าก็หัวเราะชอบใจ แล้วเชิญทั้งหมดเข้าบ้าน แต่เมื่อตือโป๊ยก่าย ได้ก้าวเข้ามาในบ้านนั้น ด้วยหน้าตาหน้าเกลียดและตัวใหญ่ ทำให้คนในบ้านหลายคนตกใจ แม้แต่พระถังก็ถึงกับตีหน้าเศร้ากับลูกศิษย์คนนี้ ที่ชาวบ้านหลายคนรังเกียจลูกศิษย์คนนี้

ตือโป๊ยก่าย จนปัญญา ได้บอกกับพระถังว่า ข้าประพฤติตนสำรวมกริยากายวาจาเป็นอย่างดีมากแล้ว ใยผู้คนยังรังเกียจข้า สมัยข้าอยู่บ้านพ่อตา ปากกับหูมันก็ยื่นออกมาเองทำให้ผู้คนรังเกียจข้า ครั้งนี้อาจารย์รู้สึกวิตกกับตัวข้าหรือ.. เพราะเห็นท่านนั่งถอนหายใจ เห้งเจีย จึงให้ ตือโป๊ยก่าย นั้น มัดหูไว้กับท้ายทอย และหุบปากที่ยื่นลง เพื่อลดความน่าเกลียดลง

ต่อมาตอนเช้า พระถังจึงถามตาเฒ่าว่า ทำไมเมื่อวานถามทางไปไซที ท่านจึงต้องการให้ข้ากลับไป ตาเฒ่าอ๊วงจึงกล่าวว่า คณะของท่านจะต้องผ่านเขาโป๊ยแปะลี้อี้งฮองเนี้ย ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของปีศาจร้าย ซึ่งข้าเห็นว่า คณะท่านคงไม่สามารถผ่านไปได้ แต่เมื่อวาน ลูกศิษย์ของท่านได้พูดว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีฝีมือพอตัว จึงเห็นว่าคณะท่านคงไปถึงดังประสงค์ได้

โดยตาเฒ่าได้สั่งให้ยกอาหารมาเลี้ยงคณะเดินทาง แต่โป๊ยก่ายกลับกินไม่ยั้ง แม้ตาเฒ่าจะสั่งให้เด็กทำมาไม่อั้น แต่เห้งเจียกลับบอกตาเฒ่าว่า ไม่ต้องยกมาเพิ่มอีก ทำให้โป๊ยก่ายต้องตัดพ้อ เห้งเจีย ว่า ข้ากินไปยังไม่ถึงครึ่งท้องเลย พี่ใหญ่ทำไมทำเช่นนั้น เห้งเจีย จึงตอบกลับว่า เจ้าทานไปเป็นสิบชามแล้วควรพอแค่นี้ แล้วทั้งหมดก็เก็บของเพื่อออกเดินทางต่อไป

ปริศนาธรรม
ตอนนี้ ผู้แต่งจะเน้นไปที่ ความอยาก ที่เป็นกิเลส หากความอยากมากเกินไปจะกลายเป็นความโลภ ความอยากนั้น ถือเป็น โลภเจตสิก คือ ความอยากได้ เป็นความยึดมั่นในอารมณ์ การติดในอารมณ์เป็นนิจ โดยแยกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้

1.
ตือโป๊ยก่าย เข้าบ้านครั้งแรกและถูกรังเกียจ จากคนในบ้านของตาเฒ่าอ๊วง และได้มาบ่นเรื่องการสำรวมกายวาจากับ อาจารย์ว่า ปฎิบัติเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม  เห้งเจียได้ให้ ตือโป๊ยก่าย พยายาม หุบปากลง และเอาหูไปพันที่ท้ายทอย (เปิดหู) นั่นคือ เห้งเจีย ให้โป๊ยก่าย ฟังให้มาก และพูดให้น้อย เพื่อเพิ่มการสำรวมกาย วาจาให้มากขึ้น

โดยตอนท้าย ตือโป๊ยก่าย ก็ยังคงแสดงให้เห็นถึง ความอยาก เพราะ โป๊ยก่าย ยังคงกินมากเช่นเดิม เห้งเจีย (ปํญญา) จึงสั่งให้เด็กไม่ต้องยกอาหารมาเพิ่มอีก (กินแค่ครึ่งเดียว) เพื่อลดความอยากลง

2.
ตาเฒ่าอ๊วง แนะปริศนาธรรมว่า หากอยากไปหาพระคัมภีร์ทางตะวันตก ให้ถอยกลับไปทางตะวันออก บางทีพระคัมภีร์อาจอยู่ที่นั่น หมายความว่า ยิ่งอยากนิพพาน กลับยิ่งห่างนิพพาน ยิ่งอยากบรรลุธรรม กลับยิ่งห่างบรรลุธรรม แต่ยิ่งห่างนิพพาน กลับยิ่งใกล้นิพพาน ยิ่งห่างบรรลุธรรม กลับยิ่งใกล้บรรลุธรรม

***
หมายเหตุ อุปกิเลส 16 มีดังนี้ (ที่แนะนำเพราะในไซอิ๋ว ส่วนใหญ่จะเจอกิเลสพวกนี้ตลอดจึงแนะนำไว้ก่อน)
1.
โลภ - อภิชฌาวิสมโลภะ ความเพ่งเล็งอยากได้ไม่เลือกที่ จ้องละโมบ มุ่งแต่จะเอาให้ได้
2. พยาบาท - ความพยาบาท คิดหมายปองร้ายทำลายผู้อื่นให้เสียหายหรือพินาศ ยึดความเจ็บแค้นของตนเป็นอารมณ์
3. โกรธ - ความโกรธ จิตใจมีอาการพลุ่งพล่านเดือดดาล เมื่อถูกทำให้ไม่พอใจ
4. ผู้ใจเจ็บ - อุปนาหะ เก็บความโกรธไว้ แต่ไม่คิดผูกใจที่จะทำลายเหมือนพยาบาท เป็นแต่ว่าจำการกระทำไว้ ไม่ยอมลืม ไม่ยอมปล่อย
5. ลบหลู่บุญคุณ มักขะ ไม่รู้จักบุญคุณ , ลำเลิกบุญคุณ เช่น ถูกช่วยเหลือให้ได้ดิบได้ดี แต่กลับพูดว่า เขาไม่ได้ช่วยอะไรเลย เป็นต้น หรือจะเรียกง่ายๆ ว่า “คนอกตัญญู”
6. ตีเสมอ - ปลาสะ เอาตัวเราเข้าไปเทียบกับคนอื่นด้วยความลำพองใจ ทั้งๆที่ตนต่ำกว่าเขา
7. ริษยา - อิสสา กระวนกระวายทนไม่ได้เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่า
8. ตระหนี่ - มัจฉริยะ แม้มีเรื่องจำเป็นต้องเสียสละแต่กลับไม่ยอม
9. เจ้าเล่ห์ - มายา แสร้งทำเพื่ออำพรางความไม่ดีให้คนอื่นเข้าใจผิด เป็นคนมีเหลี่ยม มีคู
10. โอ้อวด - สาเถยยะ คุยโม้โอ้อวดเกินความจริง
11. ดื้อรั้น - ถัมภะ จิตใจแข็งกระด้าง ไม่ยอมรับการช่วยเหลือหรือต่อต้านปฏิเสธสิ่งที่มีประโยชน์
12. แก่งแย่ง - สารัมภะ ยื้อแย่งเอามาโดยปราศจากกติกาความยุติธรรม
13. ถือตัว - มานะ ทะนงตน ตรงกับคำว่า “เย่อหยิ่ง”
14. ดูแคลน - อติมานะ ความดูหมิ่นดูแคลน เหยียดหยามหรือดูถูก
15. มัวเมา - มทะ ความหลงเพลิดเพลินในสิ่งที่ไม่ใช่สาระ
16. ประมาท - ปมาทะเลินเล่อ จมอยู่ในความประมาท ขาดสติกำกับ แยกดีชั่วไม่ออก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น