วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2563

!จีน(1936) จาง เสฺวเหลียง ผู้รักชาติ หรือกบฎ (กรณีซีอาน ชี้ชะตาชาติจีน)

กรณีซีอาน  12 ธันวาคม 1936 - 24 ธันวาคม 1936

เหตุการณ์เพียง 12 วันที่ชี้ชะตาประเทศจีนไปตลอดกาล หลังยุคล้มล้างราชวงศ์จีน ก็เกิดเป็นยุคขุนศึก ทหารแต่ละภูมิภาคตั้งตนเป็นใหญ่ ต่อมาเหลือแค่พรรคก๊กมินตั๋ง และคอมมิวนิสต์ รวมทั้งยังเจอภัยคุกคามจากจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น

แต่มีบุคคลหนึ่งที่ชี้ชะตาทิศทางของประเทศ นั่นคือ  จางเสวียเหลียง (张学良) แม่ทัพระดับสูงของพรรคก๊กมินตั๋ง ผู้ก่อรัฐประหารด้วยการใช้กำลังควบคุมตัว เจียงไคเช็ค (蒋介石) ซึ่งเป็นผู้นำประเทศในขณะนั้น บังคับให้ปรับเปลี่ยนนโยบายของก๊กมินตั๋ง ให้ล้มเลิกปฏิบัติการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์และหันมาร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น นับเป็นเหตุการณ์สำคัญหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน ที่ชาวจีนเรียกกันว่า ‘กรณีซีอาน’(西安事变) ขณะที่ชาวไต้หวันรู้จักในชื่อของ ’รัฐประหารซีอาน’ หรือ ‘กบฏซีอาน’

ประวัติ จางเสวเหลียง
จาง เสฺวเหลียง (張學良 (1901 – 2001) ภายหลังใช้ชื่อว่า พีเทอร์ เอช. แอล. จาง (Peter H. L. Chang) และมีฉายาว่า เช่าไชว่ (少帥; "จอมพลหนุ่ม") เป็นผู้ปกครองภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และ พื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคเหนือของจีนโดยพฤตินัยหลังจากบิดาของเขาคือ  จาง จั้วหลิน (張作霖)  ผู้มีฉายาว่า ต้าไชว่ (大帥; "จอมพลเฒ่า") ถูกญี่ปุ่นลอบสังหารในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1928 (พ่อของเขาเดิมได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่น และได้ปกครองแมนจูกั๋ว  แต่ในปี 1927 กองทัพของเขาก็พ่ายแก่ พรรคก๊กมินตั๋ง ที่ปักกิ่ง ทำให้ญี่ปุ่นโกรธ และวางระเบิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1928)

จาง เสฺวเหลียง เป็นชนวนให้เกิดอุบัติการณ์ซีอาน (西安事變) เมื่อ ค.ศ. 1936 เพราะจาง เสฺวเหลียง และพรรคพวกจับ เจียง ไคเชก หรือเจี่ยง เจี้ยฉือ (蔣介石) ผู้นำจีนจากพรรคก๊กมินตั๋ง (國民黨) ไปขังไว้ เพื่อบีบให้พรรคก๊กมินตั๋ง ยอมสงบศึกกับ พรรคคอมมิวนิสต์ (共产党) ที่ก่อกบฏ ทั้งต้องยอมก่อตั้งแนวร่วมต่อต้านญี่ปุ่นที่เข้ามายึดครองแมนจูเรีย

เหตุการณ์ที่ซีอาน
ในวันที่ 22 ตุลาคม 1936 ที่เมืองซีอาน เจียงไคเช็กประกาศเริ่มแผนการปราบปรามคอมมิวนิสต์ จางเสวียเหลียง และ หยางหูเฉิง ต่อต้านนโยบายใหม่ดังกล่าว และ พยายามเกลี้ยกล่อม เนื่องจากพวกเขาต่างประทับใจกับความสามารถในการป้องกันและการสู้รบที่มีประสิทธิภาพของฝ่ายคอมมิวนิสต์

ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายได้ยุติสงคราม ประธานพรรคก๊กมินตั๋ง เจียง ไคเชก ได้บินไปยังเมืองซีอานช่วงต้นเดือนธันวาคมเพื่อตรวจสอบว่า ทำไมการรบถึงหยุดชะงัก

ในวันที่ 12 ธันวาคม บอดี้การ์ดของจางเข้าโจมตีคณะผู้ติดตามของเจียงไคเช็ค ในระหว่างการยิงปะทะนั้น เจียงเสี่ยวเสี้ยน ซึ่งเป็นทั้งหลานชายและบอดี้การ์ดของเจียงไคเช็ค ถูกสังหาร และ เจ้าหยวนชงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาการ ได้รับบาดเจ็บสาหัสทำให้เสีบชีวิตในหลายวันต่อมา สิ่งที่ตามมาคือ ความสับสนที่ผู้นำของจีนคิดว่าจางและหยางหูเชิงทำการรัฐประหาร และลักพาตัว เจียงไคเช็ค

หลังจากการลักพาตัวไปได้ชั่วโมงหนึ่งแล้ว จางส่งข้อเรียกร้อง 8 ข้อให้กับผู้นำทางการเมืองของจีนและต่างประเทศ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

จัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีทั้งสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์

หยุดการต่อสู้ระหว่างกองกำลังปฏิวัติและกองกำลังคอมมิวนิสต์

ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองที่ถูกจับที่เซี่ยงไฮ้

ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด

อนุญาตให้ชุมนุมประท้วงต่อต้านญี่ปุ่น

รับประกันเสรีภาพทางการเมืองให้กับประชาชนชาวจีนทุกคน

ปกครองประเทศจีนตามประสงค์ของดร.ซุนยัดเซน

รวมกลุ่มผู้นำสองฝ่ายเพื่อหารือเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับการรุกรานญี่ปุ่น

พรรคก๊กมินตั๋งเกิดความคิดแตกแยกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่ง เตรียมกำลังทหารเพื่อบุกซีอานช่วยเหลือเจียงไคเช็กออกมา  ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า เจียงไคเช็กอาจโดนประหารไปแล้ว  แต่ มาดามเจียง หรือ ซ่งเหม่ยหลิง ส่งที่ปรึกษาชาวออสเตรเลีย ซึ่งเคยทำงานให้กับ จางเสวียเหลียง เป็นตัวแทนเจรจาของนางในวันที่ 14 ธันวาคม

ด้านฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ก็เกิดความคิดแตกแยกเช่นกัน เหมาเจ๋อตุงและคนส่วนใหญ่ เรียกร้องให้ประหารเจียงไคเช็ก ขณะที่โจวเอินไหล และ จางเหวินเทียน สนับสนุนแนวคิดที่จะเจรจา เพราะคิดว่า เจียงไคเช็กเหมาะที่จะเป็นผู้นำในการขับไล่ญี่ปุ่น แม้ทั้งสองฝ่ายจะเห็นไม่ตรงกัน แต่สุดท้าย โจเซฟ สตาลิน ที่ต้องการลดอิทธิพลของญี่ปุ่นในเอเชียก็แนะนำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน ยุติการประหารเจียงไคเช็กแล้วหันหน้าเจรจากัน เหมาเจ๋อตุง และพรรคคอมมิวนิสต์ รู้ดีว่า พวกเขาจะประสบความสำเร็จได้ก็ด้วยการสนับสนุนจากสตาลิน จึงฟังคำแนะนำของสตาลิน จึงได้ส่งคณะผู้แทนไปเจรจาในวันที่ 17 ธันวาคม

วันที่ 22 ธันวาคม ซ่งเหม่ยหลิน ภรรยาเจียงไคเช็ก และ ซ่งซีเหวิน น้องชายของเธอ ก็รีบเดินทางมายังซีอานเพื่อเข้าร่วมการเจรจา

ในวันที่ 24 ธันวาคม จางเสวียเหลียง และ หยางหู่เฉิง จัดการสร้างข้อตกลงแบบละเอียดกับพรรคก๊กมินตั๋ง และ พรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งสองฝ่ายร่วมตกลงเจรจาต่อสู้กับญี่ปุ่นและเจียงไคเช็คกับผู้นำประเทศคนอื่นๆ ที่ถูกจับได้รับการปล่อยตัว ในไดอารี่ของเจียงไคเช็คบันทึกว่าเป็นเหตุการณ์ที่อัปยศที่สุดในชีวิต แม้ว่าเขาจะมีอำนาจน้อยที่สุดในการเจรจาครั้งนี้ซึ่งจัดขึ้นเพื่อทำให้เขาหยุดการปราบปรามคอมมิวนิสต์จนกระทั่งสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สองจบลงในปี 1945 แต่ในช่วงสงครามเขาก็บ่อนทำลายคอมมิวนิสต์ทุกครั้งที่มีโอกาส

ในวันที่ 25 ธันวาคม จางเสวียเหลียง พา เจียงไคเช็ค กลับไปยังเมืองหลวงนานกิงเป็นการส่วนตัว เมื่อมาถึงนานกิง จางเสวียเหลียง ถูกจับกุมข้อหากบฎ เขาถูกไต่สวนในศาลทหารแทนที่จะเป็นศาลพลเรือนซึ่งยืนยันว่า จางเ ป็นผู้กระทำผิด แต่หลังจากการไต่สวนก็ได้รับนิรโทษกรรม แม้ว่าจางจะกักบริเวณเขาอยู่ในบ้านพักอย่างไม่มีกำหนด หลังจากพรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ และเดินทางไปถึงไต้หวันแล้วจางเสวียเหลียงก็ยังถูกกักบริเวณต่อไปอีกจนถึงปี 1991 เมื่ออายุ 90 ปี เขาก็ได้ย้ายไปอยู่ฮาวายและอยู่ที่นั่นไปจนเสียชีวิตในปี 2001 เมื่ออายุ 100 ปี จางไม่เคยเปิดเผยเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับแรงจูงใจในการก่อกบฏของเขาจึงนำไปสู่ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด จาง อาจเป็นตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งบงการการจับตัวเจียงไคเช็คทั้งหมดภายใต้การนำของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์

หลังเหตุการณ์
ขณะที่จางเสวียเหลียงถูกกักบริเวณ หยางหู่เฉิงก็ถูกจับตัวกุมตัวแบบลับๆ และถูกคุมขังในคุก จนกระทั่งกันยายนปี 1949 ก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จะบุกยึดเมืองนานจิง เมืองหลวงของก๊กมินตั๋ง หยางพร้อมกับภรรยาและลูกสองคนถูกประหารตามคำสั่งของเจียงไคเช็ค

จากเหตุการณ์ซีอานนี้ทำให้ทางจีนแผ่นดินใหญ่มองว่า เขาเป็นวีรบุรุษคนหนึ่ง เพราะทำให้ก๊กมินตั๋งต้องหันไปสู้กับญี่ปุ่น โดยเลิกทำสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์มีเวลาได้ลืมตาอ้าปาก สามารถสั่งสมกำลังขึ้นมาได้ก่อนจะสามารถยึดประเทศได้ในภายหลัง

แต่ในมุมมองของทางสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แล้วกลับมองว่าเขาเป็นอาชญากรเพราะทำให้สงครามต้านญี่ปุ่นต้องเริ่มขึ้นเร็วกว่าที่ควรจะเป็นทั้งๆที่เจียงไคเชกวางแผนว่าจะเริ่มต่อต้านญี่ปุ่นหลังจากที่จัดการพรรคคอมมิวนิสต์จนสิ้นซากแล้ว พอเป็นแบบนี้เลยทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เหลือรอดอยู่จนเติบโตขึ้นและกลับมาโค่นล้มเขาและยึดครองประเทศได้ในที่สุด

เหตุการณ์นี้ถูกมองว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ที่ยุติความขัดแย้งชั่วคราวระหว่างก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์ซึ่งอนุญาตให้คอมมิวนิสต์รวมตัวและจัดระเบียบใหม่เป็นเวลาหลายปีและจุดยืนที่คอมมิวนิสต์ต่อต้านญี่ปุ่นยังช่วยสนับสนุนความนิยมเพิ่มเติมจนในที่สุดคอมมิวนิสต์เอาชนะสงครามกลางเมืองกับก๊กมินตั๋งซึ่งล่าถอยไปยังเกาะไต้หวันและประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949

ลำดับเหตุการณ์กรณีซีอาน
12 ธ.ค. 1936 นายพลของจีนลักพาตัวเจียงไคเช็คเพื่อพยายามให้กองกำลังปฏิวัติและกองกำลังคอมมิวนิสต์ร่วมมือขับไล่ญี่ปุ่น
17 ธ.ค. 1936 พรรคคอมมิวนิสต์จีนส่งคณะไปยังซีอานตามคำแนะนำของโจเซฟ สตาลิน
22 ธ.ค. 1936 ซ่งเหม่ยหลินและซ่งซีเหวินมาถึงซีอานเพื่อเจรจาปล่อยตัวเจียงไคเช็ค
24 ธ.ค. 1936 นายพลจางเสวียเหลียงประสบความสำเร็จในการสร้างกองกำลังพันธมิตรก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น