วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

เทศกาลจีน : เทศกาลกินเจ หรือ เจียะฉ่าย

เทศกาลกินเจ หรือ เจี๊ยะฉ่าย

คำว่า "เจ" ในภาษาจีนทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีความหมายว่า "อุโบสถ"  คำดั้งเดิมจะอ้างอิงจากการรักษาศีล 8 หรืออุโบสถศีล นั่นเอง โดยที่ ในทางพุทธเถววาท จะไม่รับประทานอาหารหลังเที่ยงวันไปแล้ว แต่สำหรับพุทธนิกายมหายานนั้น การรักษาอุโบสถศีลจะรวมถึงการไม่รับประทานเนื้อสัตว์ด้วย เราจึงนิยมเรียกการไม่ทานเนื้อสัตว์รวมไปกับการกินเจ

ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่า "กินเจ" ดังนั้นความหมายของคนกินเจ ไม่เพียงแต่ไม่ทานเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ คือรักษาศีล 8 ด้วย 


 "การกินเจ" หมายถึง การถือศีลที่ไม่กินของสดคาว ซึ่งมาจากรากศัพท์คำภาษาจีนที่เรียกว่า "เจี๊ยะฉ่าย" หมายถึง การกินอาหารผัก อาหารที่มาจากพืชผักธรรมชาติ ไม่มีเนื้อสัตว์ปะปน และไม่ปรุงด้วยผักฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย ใบยาสูบ และงดเว้นน้ำนมสด นมข้นด้วย เพราะถือว่าเป็นของสดของคาว 

ช่วงเวลากินเจ 
ประเพณีกินเจที่ชาวจีนเรียกกันว่า "เก้าอ๊วงเจ" หรือ "กิ้วอ๊วงเจ" แปลว่า "เจเดือน 9" เริ่มต้นในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน รวม 9 วัน 9 คืน ตรงกับเดือน 11 หรือเดือนตุลาคมของไทย (ตามปฏิทินสากล) โดยคำว่า "เก้าอ๊วง" หรือ "กิ้วอ๊วง" แปลว่า "พระราชา 9 องค์" หรือนพราชา หมายถึงผู้เป็นใหญ่ทั้ง 9 ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีกินผักกินเจ
                                       
ตำนานการกินเจ เก้าอ๊วงฝ่ายมหายาน 
การกินเจ เพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 องค์ ดังมีในพระสูตร ปั๊กเต๊าโก๋ว ฮุดเชียวไจเอียงชั่วเมียวเกง กล่าวไว้คือ พระวิชัยโลกมนจรพุทธะ พระศรีรัตนโลกประภาโมษอิศวรพุทธะ พระเวปุลลรัตนโลกวรรณสิทธิพุทธะ พระอโศกโลกวิชัยมงคลพุทธะ พระวิสุทธิอาศรมโลกเวปุลลปรัชญาวิภาคพุทธะ พระธรรมมติธรรมสาครจรโลกมโนพุทธะ พระเวปุลลจันทรโภคไภสัชชไวฑูรย์พุทธะ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 องค์ คือพระศรีสุขโลกปัทมอรรถอลังการโพธิสัตว์ และพระศรีเวปุลกสังสารโลกสุขอิศวรโพธิสัตว์ รวมเป็น 9 องค์ (หรือ "เก้าอ๊วง") 

ทรงตั้งปณิธานจักโปรดสัตว์โลก จึงได้แบ่งกายมาเป็นเทพเจ้า 9 องค์ด้วยกันคือ ไต้อวยเอี๊ยงเม้งทัมหลังไทแชกุน ไต้เจียกอิมเจ็งกื้อมึ้งงวนแชกุน ไต้กวนจิงหยิ้งลุกช้งเจงแชกุน ไต้ฮั่งเฮี่ยงเม้งม่งเคียกนิวแชกุน ไต้ปิ๊กตังง้วนเนี้ยบเจงกังแชกุน ไต้โพ้วปั๊กเก๊กบู๊เอียกกี่แชกุน ไต้เพียวเทียนกวนพัวกุงกวนแชกุน ไต้ตั่งเม้งงั่วคูแชกุน ฮุ้ยกวงไตเพียกแชกุน เทพเจ้าทั้ง 9 องค์ ทรงอำนาจตบะอันเรืองฤทธิ์บริหารธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และทอง ทั่วทุกพิภพน้อยใหญ่สารทิศ
ตำนาน การกินเจ เพื่อ ราชวงศ์ซ้อง 
กินเจเพื่อเป็นการบูชา “กษัตริย์เป๊ง” ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซ้อง ซึ่งได้ฆ่าตัวตายขณะที่เสด็จไปไต้หวัน โดยทางเรือ เมื่อมีพระชนนมายุได้ 9 พรรษา พิธีบูชาเพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้องนี้ มีแต่เฉพาะในมณฑลฮกเกี้ยนซึ่งเป็นดินแดนผืนสุดท้ายของราชวงศ์ซ้องเท่านั้น โดยชาวฮกเกี้ยนได้จัดทำพิธีดังกล่าวนี้ขึ้นด้วยการอาศัยศาสนาบังหน้าการเมือง การที่เผยแผ่มาสู่เมืองไทยได้นั้นเพราะชาวจีนจากฮกเกี้ยนนำมาเผยแผ่

มาถึงตรงนี้ ต้องบอกก่อนว่า  คนจีน ไม่ว่าจะแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน ฮ่องกง ไม่มีประเพณี กินเจ นะครับ  ดังนั้น การที่บอกว่า คนฮกเกี้ยน เป็นผู้นำไปเผยแพร่นั้น อาจจะไม่ใช่
ตำนาน การกินเจที่ภูเก็ต 
มีคณะงิ้วจากเมืองจีน มาเปิดการแสดงที่อำเภอกะทู้นานเป็นแรมปี บังเอิญช่วงนั้นเกิดโรคระบาดขึ้น คณะงิ้วจึงจัดให้มีพิธีกินเจ และสร้างศาลเจ้าขึ้นเพื่อสะเดาะเคราะห์ หลังจากนั้นโรคระบาดก็หาย ชาวกะทู้เกิดความศรัทธาจึงปฏิบัติตาม หลังจากประกอบพิธีอยู่ประมาณ 2-3 ปี ก็มีผู้คนเลื่อมใสมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับอยากได้พิธีกินเจที่สมบูรณ์แบบตามประเพณีมณฑลกังไส ประเทศจีน จึงได้ส่งตัวแทนไปนำควันธูป (เหี่ยวเอี้ยน) จากกังไสให้ลอยมาถึงภูเก็ต โดยในการเดินทางกลับจะต้องคอยจุดธูปต่อกันมิให้ดับมอด ศาลเจ้ากะทู้จึงได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับของพิธีกินเจในปัจจุบัน

จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่จัดประเพณีการกินเจอย่างยิ่งใหญ่ทุก ๆ ปี โดยมาจากรากฐานความเชื่อเดียวกัน คนจีนเรียก "เจเดือนเก้า" แต่ถ้านับตรงกับเดือนไทยก็จะได้ตรงกับเดือน 11 ดังนั้นเทศกาลกินเจที่ภูเก็ตจึงมีขึ้นหลังเทศกาลกินเจทั่ว ๆ ไป

ทำไมเมืองจีนที่เป็นต้นกำเนิดเจียะฉ่ายถึงได้สูญหายไปแล้ว หลายๆคนคงมีคำถาม ในเมื่อเรานำประเพณี พิธีปฏิบัตินี้มาจากเมืองจีน แล้วทำไมที่เมืองจีนซึ่งเป็นต้นกำเนิดแท้ๆ ถึงไม่มีประเพณีนี้แล้ว เวลาที่คนต่างชาติพูดถึงเจียะฉ่าย พูดถึง vegetarian festival จะต้องนึกถึงเมืองไทย โดยเฉพาะที่ภูเก็ต
ที่เมืองจีน นั้นประเพณีนี้ ได้สูญหายไปแล้ว โดยมี 2 ทฤษฎี คือ
1. ช่วงทศวรรษที่ 60 ได้มีการ "ปฏิวัติวัฒนธรรม" ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการเผาตำราการแสดง ตำราศิลปะ ต่างๆเป็นจำนวนมาก ซึ่งตำราการปฏิบัติพิธีกรรมเจียะฉ่ายก็ได้ถูกเผาไปด้วยในช่วงเวลานั้น และไม่มีใครกล้าปฏิบัติพิธีกรรมต่างๆ แม้กระทั่งการแสดงงิ้วซึ่งเป็นการแสดงขั้นสูงสุดและเป็นศิลปะประจำชาติยังผิดกฏหมาย นับประสาอะไรกับการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อศาสนาก็ย่อมที่จะไม่มีใครกล้าปฏิบัติ ทำให้เทศกาลเจี๊ยะฉ่ายนั้นสูญหายไปจากประเทศจีน

2. ในอดีต สมาคมลับ หงเหมิน (หรืออั้งยี่ที่คนไทยเรียก) โดยมีอีกชื่อ คือ ซันเห่อฮุ่ย (หรือองค์ 3 Triad) ที่พัฒนามาจาก พรรคฟ้าดิน ที่มุ่งโค่นชิงฟื้นหมิง โดยจุดกำเนิดในตำนานเล่าว่า พระทั้ง 5 ที่หนีจากเหตุการณ์เผาวัดเส้าหลิน ในยุคฮ่องเต้ คังซี

ขณะนั้น ราชวงศ์ชิงเห็นว่า สมาคมหงเหมิน อาจใช้เทศกาลกินเจบังหน้าเพื่อรวบรวมพวกพ้อง ที่มณฑลฮกเกี้ยน ทำให้สั่งยกเลิกเทศกาลกินเจ ทำให้เทศกาลกินเจเสื่อมไปด้วย อย่างไรก็ดี สมาคมหงเหมินยังคงแพร่กระจายไปยังจีนโพ้นทะเล โดยเฉพาะไทยกับมาเลเซียทำให้ โรงเจ บางโรงเจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางที่ยังคงมีการเขียนคำว่า โค่นชิงฟื้นหมิง อยู่ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น