วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2564

จีน (เทศกาลจีน) วันไหว้ขนมบัวลอย หรือ ตงจื้อ (冬至)

วันไหว้ขนมบัวลอย หรือ ตงจื้อ (冬至) หรือ 冬至节 วันตงจื้อเจี๋ย

ประเพณีที่สำคัญของชาวจีน ในช่วงปลายปี คือ วันไหว้ขนมบัวลอย หรือ ตงจื้อ (冬至) แปลเป็นไทยว่า เทศกาลฤดูหนาวมาถึงแล้ว  วันไหว้ขนมบัวลอยจะจัดขึ้นในเดือน 11 ตามปฏิทินจีน โดยปกติจะเป็น วันที่ 22 ธันวาคมของทุกปี แต่ถ้าเป็นปี อธิกมาส (มี 366 วัน) จะเป็นวันที่ 21 ธันวาคมของทุกปี

วันเหมายัน คือ 
ที่มาขอวันที่ 22 ธันวาคม คือ วันนี้จะเป็น วันเหมายัน (อ่านว่า เห มา ยัน)  ซึ่งในจีนกลางเรียก ตงจื้อเจี๋ย แต่ถ้าตามภาษาแต้จิ๋วเรียก ตังโจ่ย โดยปกติแล้วจะตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคม 

วันเหมายัน คือ 
วันที่ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี ถือเป็นวันที่อากาศหนาวเย็น (ความจริงหลังเทศกาลกินเจแล้ว ระยะเวลากลางคืนจะเริ่มยาวขึ้น จนยาวสุดถึงวันตงจื่อ หลังจากวันนี้ไปก็จะค่อยๆ กลับเป็นปกติ) สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ และ จะตรงกันข้ามกันสำหรับประเทศทางซีกโลกใต้ โดยส่งผลมาจากการที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และ ตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุดเช่นกัน ทำให้คาดว่าเป็นวันที่อากาศจะหนาวเย็นที่สุด

อย่างไรก็ดี คนจีนโบราณเชื่อว่า หลังจากวันนี้เป็นต้นไป สิ่งมีชีวิตต่างๆ จะเริ่มฟื้นตัว ทำให้เดิม วันนี้คือ วันปีใหม่  แต่ปัจจุบัน ถือเป็น วันปีใหม่เล็ก มีความสำคัญรองจากตรุษจีน (ปีใหม่ใหญ่) เท่านั้น


จีนเหนือ ต่างกับจีนใต้
ตามความเชื่อของคนจีนทางเหนือ ในวันนี้จะนิยมกิน เกี๊ยว ไม่ว่าจะเกี๊ยวนึ่ง หรือ เกี๊ยวน้ำ ก็ได้ เพื่อฉลองเทศกาลตงจื้อ โดยมีเรื่องเล่ากันว่า หากไม่ทานเกี๊ยวในวันนี้ หูของเราจะแข็งและหลุดออกมา!!! เพราะในวันเหมายัน เป็นช่วงที่เมืองจีนอากาศหนาวเย็นมาก จึงเป็นกุศโลบายที่ให้พวกเรากินของร้อน ๆ เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น ไม่ป่วยไม่ไข้

และสำหรับคนจีนทางใต้ จะนิยมกิน "汤圆 หรือบัวลอยจีน" มากกว่า

บัวลอย สัญลักษณ์ของการรวมตัว
ที่มาของประเพณีดังกล่าวมาจากการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในช่วงฤดูหนาวเพื่อให้คุ้มครองสัตว์เลี้ยง และขอพรให้พืชผลทางการเกษตรเจริญงอกงามได้ดี ผู้คนมีสุขภาพแข็งแรง อีกทั้งเป็นการขอบคุณสำหรับการดำรงชีวิตอย่างราบรื่นมาอีก 1 ปี หรือ ใครมีเคราะห์อยู่ก็เชื่อว่าเมื่อไหว้แล้วจะทำให้หมดเคราะห์
โดยขนมบัวลอย เป็น สัญลักษณ์ ของ การรวมตัวของครอบครัว ดังปรากฎในภาพยนตร์สามก๊ก 
โดยตามความเชื่อของคนจีนที่มีมาแต่โบราณ "เทศกาลตงจื้อ" มีความสำคัญมาก เพราะถือเป็นวันที่ทุกคนในครอบครัว จะกลับมาบ้าน มารวมตัวกันกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา และฉลองด้วยการกินขนมประจำเทศกาลนี้ โดยมีนัยยะเพื่อให้ร่างกายอบอุ่นแก้หนาว ได้แก่ 汤圆 ทังหยวน เป็นขนมที่มีลักษณะคล้ายกับบัวลอยของไทย ซึ่ง เล่าปี่ ใน สามก๊ก ตอน ศึกผาแดง ขณะกำลังปั้นขนม 汤圆 ได้กล่าวไว้ว่า "การทำขนม 汤圆 เป็นการนำแป้งและน้ำตาลมารวมกัน เหมือนกับทุกคนในครอบครัว (合家团圆) กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง "


นอกจากนี้ กองทัพของซุนกวน ยังมีการกิน 汤圆 ในเทศกาลตงจื้อ และ เรียกขวัญกำลังใจให้ทุกคนเอาชนะศึกโจโฉให้ได้เพื่อจะได้กลับมาฉลองมื้อใหญ่ในเทศกาลตงจื้อหลังเสร็จศึก

ขนมบัวลอย

ขนมบัวลอย ถือเป็นขนมมงคลอีกชนิดหนึ่งของคนจีน สามารถใช้ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ได้ เช่น พิธีแต่งงาน เป็นต้น ขนมบัวลอยจะทำจากแป้งข้าวเหนียว ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ต้มกับน้ำตาล มักมี 2 สีคือ สีขาว และ สีแดง ซึ่งเป็นสีมงคลของจีน ภายหลังขนมดังกล่าวได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาสูตรการทำเพื่อให้มีรสชาติแปลกใหม่และเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น

ในสมัยโบราณชาวจีนเรียกขนมบัวลอยว่า ฝูหยวนจื่อ (浮圆子) 浮 แปลว่า ลอย และ 圆子 แปลว่า ลูกกลม ๆ ต่อมาภายหลังเรียกว่า ทังถวน (汤团) 汤 แปลว่า น้ำแกง ส่วน 团 แปลว่า ทรงกลม หรือเรียกว่า ทังหยวน (汤圆) ซึ่งมีความหมายเหมือนกันและออกเสียงใกล้เคียงกัน นอกจากนั้น อักษร 团圆 เมื่อรวมกันแล้วมีความหมายว่า การได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนในครอบครัว อีกด้วย ในประเทศไทยอาจจะคุ้นเคยกับการเรียกชื่อขนมบัวลอยว่า ขนมอี๋ เนื่องจากเป็นการออกเสียงตามสำเนียงจีนแต้จิ๋วนั่นเอ

การไหว้เจ้า
ของที่ใช้ในการไหว้ขนมบัวลอย ประกอบด้วย
« กระถางธูป
« เทียนแดง 1 คู่
« ขนมบัวลอย 5 ถ้วย
« ผลไม้ 5 อย่าง
« น้ำชา 5 ถ้วย
« ธูปสำหรับจุดไหว้ คนละ 3 ดอก หรือ 5 ดอก (จำนวนแล้วแต่ความเชื่อตามแต่ละท้องที่)
« กระดาษเงินกระดาษทอง และเครื่องบรรณาการต่าง ๆ
* จำนวนของที่ใช้ในการไหว้อาจปรับเปลี่ยนไปตามความสะดวกและความเชื่อตามแต่ละท้องที่


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น