วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

จีน (334-420) ฝาเสี่ยน ผู้ตามล่าพระวินัย สุดขอบฟ้า

เสี่ยงชีวิตหมื่นลี้เสาะหาพระวินัย 法顯 (ค.ศ. 334 - ค.ศ. 420)

ในประวัติศาสตร์จีน ช่วงรัชสมัยราชวงศ์ฮั่นนั้น พุทธศาสนาในจีน ถือเป็นสิ่งนอกรีต เป็นศาสนาของชาวนอกด่าน ทำให้ถูกกีดกันอย่างรุนแรงจากสำนัก หยูเจีย(ขงจื้อ) และลัทธิเต๋า  แต่ก็เริ่มมีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยยุคแรกนั้น พุทธศาสนาต้องพยายามกลมกลืนไปกับลัทธิเต๋า

แต่เข้าสู่ยุคราชวงศ์ถังช่วงต้น พุทธศาสนาก็เจริญถึงจุดสูงสุด แต่ช่วงปลายราชวงศ์ถัง คือ พระเจ้าถังอู่จง ที่เชื่อมั่นในลัทธิเต๋ามากกว่า ทำให้มีการไล่เผาวัด ฆ่าพระ เผาคัมภีร์เป็นจำนวนมาก ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ศาสนาพุทธจะกลับมาเพิ่มขึ้นในเวลาถัดมา

ในประวัติศาสตร์จีน นั้นมีนักเดินทางชาวพุทธที่สำคัญอยู่ 3 ท่าน คือ พระฝาเสี่ยน พระเสวียนจั้ง (玄奘 ชื่อในนิยายคือ พระถังซำจั๋ง 唐三藏 พ.ศ.1183) และพระอี้จิ้ง  เรามักจะได้ยินชื่อของพระถังซำจั๋งมากกกว่าใคร แต่ท่านที่สำคัญไม่แพ้กันคือ พระฝาเสี่ยน เป็นพระสงฆ์องค์แรกที่เดินทางไปสืบพระศาสนาที่ชมพูทวีปและสามารถเดินทางกลับสู่ประเทศจีนได้สำเร็จเป็นคนแรก ในสมัยราชวงศ์หนานเป่ย (จิ้นตะวันออก)

พระธรรมวินัย คือ ตัวแทนพระศาสนา พระถังซำจั๋งรอนแรมไปชมพูทวีปเพื่อนำพระธรรมกลับมา ส่วนพระฝาเสี่ยนบุกบั่นนับหมื่นๆ ลี้เพื่อแสวงหาพระวินัย
ในยุคของพระฝาเสี่ยนศาสนาพุทธรุ่งเรืองอย่างมาก พระสงฆ์มีความรู้ด้านปรัชญา ทั้งพระสงฆ์ยังมีอิทธิพลทางการเมือง แต่กระทำตนตามอำเภอใจ เพราะไม่มีพระวินัยให้ศึกษา แม้การศึกษาพระธรรมจะรุ่งเรือง แต่ก็ส่อวี่แววว่ากำลังจะเสื่อมถอย เพราะขาดรากแก้วสำคัญ คือ พระวินัย

ที่มา
เดิมนั้นพระฝาเสี่ยน เกิดที่ตำบลบู๊เอี๊ยง จังหวัดเพ่งเอี้ยง มณฑลเชนสี  โดยคำว่า ฟาเสี่ยน นั้นเป็นฉายา เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เพราะท่านมักป่วยกระเสาะกระแสะบิดามารดาจึงฝากท่านไว้กับพระศาสนาที่วัดเซียนถัง ในมณฑลซานซี ต่อมาอายุได้ 20 ปี ท่านก็อุปสมบทที่วัดเดียวกันนี้และพำนักอยู่ที่นั่นนานเกือบ 50 ปีไม่เคยย่างกรายไปไหน กระทั่งอายุได้ 50 จึงเดินทางไปศึกษาพระธรรมที่ เมืองฉางอัน (หรือเมืองซีอันในปัจจุบัน) แม้ว่า ท่านจะได้รับความกระจ่างทางธรรมมากมาย แต่กลับพบว่า พระสงฆ์ต่างแตกแยกออกเป็นเหล่า  และเชื่อว่า ฝ่ายตนนั้นปฎิบัติตนอย่างถูกต้องตามพระวินัย  โดยไม่มีครูบาอาจารย์ใดๆ สามารถตัดสินได้ ทำให้ท่านต้องกลัดกลุ้มเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก ท่านจึงได้ตั้งอธิษฐานที่จะออกเดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยที่ถูกต้องที่มาตกูมิแห่งพุทธศาสนา นั่นคือ ชมพูทวีป นั่นเอง

ออกเดินทาง
ปัญหาใหญ่คือ ในปี ค.ศ. 399 ตอนนั้น ท่านอายุถึง 62 ปีแล้ว แม้ว่าท่านจะชราภาพมากแล้ว แต่ท่านยังคงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ ที่จะออกเดินทางไปแสวงหาพระธรรมวินัยที่ชมพูทวีป พร้อมกับพระสหายอีก 10 รูป แยกเป็น 2 กลุ่มกลุ่มละ 5 รูป  ที่ต้องเดินทางนับหมื่นลี้ผ่าทะเลทรายโกบี และภูเขาหิมะ และแผ่นดินที่ไม่เป็นมิตร ภยันอันตรายต่างๆ เพื่อไปอัญเชิญ พระธรรมวินัยจากชมพูทวีป 

ระหว่างทางท่านผ่านเจอทั้ง พุทธศาสนานิกายเถรวาท และมหายาน โดยเฉพาะที่ธิเบต ได้พบเจอกับพระสงฆ์นับหมื่นรูป มีวัดขนาดใหญ่ถึง 14 วัด แม้จะเป็นพระสงฆ์ในพุทธศาสนาต่างนิกาย แต่ทั้งหมดล้วนไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งเช่นที่ประเทศจีน นอกจากนี้ท่านยังได้เยือนเมืองตักศิลา แคว้นคันธาระ  เมืองสำคัญของพุทธศาสนาอีกแห่งอีกด้วย 

เมื่อท่านเดินทางเข้าสู่ราชอาณาจักร มัธยะ ของ ราชวงศ์คุปตะ กลับพบว่า แม้ผู้คนจะเคร่งครัดในศีลธรรม แต่กลับไม่พบพระคัมภีร์ที่สมบูรณ์ ทำให้ต้องเดินทางต่อ และท่านได้เริ่มศึกษาภาษาสันสกฤต บาลี เพิ่มเติม จนเดินทางไปเรื่อยๆ ไล่ตั้งแต่ สังกัสสะ สาวัตถั กบิลพัสดุ นาลันทา ราชคฤห์ พาราณสีโกสัมพี 

จนในที่สุดท่านและพระสหายเพียงรูปเดียว ที่สามารถเดินทางมาถึง กรุงปาฎลีบุตร เมืองหลวงของแคว้นมคธ  ท่านจึงได้พบกับพระธรรมวินัยที่ดั้นต้นค้นหา แต่เป็นพระวินัยของฝ่ายมหายาน และนิกาย สรวาสติวาท  ท่านใช้เวลาศึกษาพระคัมภีร์ในพุทธศาสนาอยู่ที่นั่นนานถึง 6 ปี โดยใช้เวลาคัดลอกพระคัมภีร์นานถึง 4 ปี สามารถรวบรวมได้หลายพันคัมภีร์ ซึ่งท่านได้พระคัมภีร์จากที่นี่มากที่สุด

แต่ท่านยังออกเดินทางต่อไป ในที่สุดท่านก็ได้ คัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดชุดหนึ่ง ที่มีผู้เก็บซ่อนไว้ ในเจดีย์ของฝ่ายมหายาน เมืองสาวัตถี ที่มีข้อความถูกต้องครบถ้วน ตามที่พระมหาเถระได้ร่วมกันร้อยกรองเป็นหมวดหมู่ตามที่มีการสังคยนาในครั้งแรก แต่กลับเป็นคัมภีร์ในนิกายเถรวาท  แม้ท่านจะได้ฉบับเกือบสมบูรณ์แล้ว แต่ท่านก็ยังออกเดินทางต่อไป 

ถึงตรงนี้ต้องอธิบายก่อนว่า พระพุทธศาสนาเดิมนั้น ถ่ายทอดกันด้วยการสวดมนต์ โดยเมื่อ 2500 ปีก่อนนั้นยังไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะยังไม่มีภาษาเขียน  จนมาถึงพุทธศตวรรษที่ 5-6 ถึงได้มีการจดบันทึก  ก่อนที่ ท่านฟาเสียน จะเดินทางมา  และถือเป็นเหตุให้ ทำไมเราต้องสวดมนตร์อย่างแม่นยำ เพราะถือเป็นการสืบสานพระคัมภีร์ทางหนึ่งนั่นเองครับ

เมื่อท่านออกเดินทางต่อ จนไปถึงเมือง  จัมปา  ริมแม่น้ำคงคา ก็ได้คักลอกพระคัมภีร์ ที่เป็นภาษาสันสกต ของนิกายมหายาน อีกครั้ง ก่อนที่จะออกเดินทางต่อไปยังเกาะลังกา (อันนี้ต้องบอกไว้ก่อนว่า แม้ยุคท่านจะไม่แบ่งแยกนิกาายต่างๆ แต่ต่อมา ด้านเหนือของอินเดียคือ แหล่งของนิกายมหายาน ส่วนด้านล่างอินเดียคือ แหล่งของนิกายเถรวาท)  ที่นั่น ท่านได้คัดลอก พระไตรปิฎกฉบับนิกาย มหิสาสกะ และนิกาย สังยตนิกาย ใช้เวลาอีกถึง 3 ปี   ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจว่า ได้คัมภีร์มามากพอแล้ว จึงตัดสินใจเดินทางกลับทางทะเล รวมระยะเวลาที่ท่าน ใช้ชีวิตในชมพูทวีปทั้งสิ้น 12 ปี ซึ่งขณะนั้น ท่านอายุถึง 74 ปีแล้ว 

ขากลับ 
ท่านตัดสินใจกลับพร้อมกับเรือบรรทุกสินค้าที่มุ่งหน้าไปยังประเทศจีน เพราะต้องหอบคัมภีร์จำนวนมากกลับไปด้วย แต่ปรากฎว่า เรือต้องเจอกับพายุร้ายนาน 3 วัน และคลื่นลมปั่นป่วน จนท่านต้องตัดสินใจทิ้งสัมภาระลงทั้งหมด ยกเว้น พระคัมภีร์ที่คัดลอกมาจะกระทั่งมาถึง ท่าเรือ
เมืองเชียงกวาง มณฑลซิงจิว ปัจจุบันคือ ชิงเต่า  ในวัย 75 ปี  ถือเป็นพระสงฆ์องค์แรกของจีนที่เดินทางไปเพื่อไปคัดลอกคัมภีร์พระไตรปิฎก และพระธรรมวินัย เพื่อวางรากฐานสำคัญของพุทธศาสนาในประเทศจีน
อย่างไรก็ดี เมื่อท่านกลับมาที่ เมืองหลวง ฉางอัน  ก็เริ่มแปลพระธรรมวินัย พร้อมกับคัมภีร์สำคัญอื่นๆ เพราะเวลาเหลือน้อยมากแล้ว ท่านแทบจะใช้เวลาอย่างหามรุ่งหามค่ำ และยังเจียดเวลาสอนพระธรรมแก่พระสงฆ์องค์อื่นอีกด้วย  จนท่านสามารถแปลพระธรรมวินัยได้สำเร็จ 5 หมวด และมหาปรินิพพานสูตร ฉบับมหายาน สำเร็จ ในวัย 77 ปี  ก่อนที่ท่าจะหลบหนีไปบำเพ็ญภาวนา ที่วัด ชินซื่อ อันห่างไกล พร้อมกับเขียนบันทึกการเดินทางของตนเอง

พระเถระฝาเสี่ยนละสังขารในปี ค.ศ. 422 สิริรวมอายุได้ 82 ปี 79 พรรษา อีก 200 กว่าปีต่อมา พระภิกษุหนุ่มสมัยราชวงศ์ถังนามว่า เสวียนจั้ง จึงได้แรงบันดาลใจจากท่าน และเดินทางสู่ตะวันตก ไปสืบพระศาสนาที่ชมพูทวีปเช่นกัน บันทึกของพระเสวียนจั้งเรียกวา "ต้าถังซีโหยวจี้" หรือ "บันทึกการจาริกไซอิ๋ว"
นับว่า ประวัติของท่านนั้น มีประโยชน์กับ พระพุทธศาสนาอย่างมาก เพราะท่านคัดลอกพระคัมภีร์ของศาสนาพุทธนิกายต่างๆ ในยุคนนั้นมาให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากัน   

1 ความคิดเห็น: