วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2565

!จีน (BC160-93) ตงฟางซัว - แก่ ใจดี สปอร์ต ตลก สายเปย์ และ ตัวจริงของ นักพรตผลทารก ในไซอิ๋ว

จฺีน BC190-93 ตงฟางซัว - แก่ สปอร์ต ใจดี  ตัวจริงของ นักพรตผลทารก ในไซอิ๋ว

ตงฟางซัว เขาเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถอย่างหาตัวจับได้ยาก แต่มีน้อยคนจะเข้าใจความหมายในคำพูดของเขา จนฟังดูเหมือนเขาเล่าเรื่องตลก แต่แท้จริงแล้ว คนยุคปัจจุบัน ถึงกับการยกย่องให้เขาเป็นถึง เทพเจ้าแห่งการพูดคุย เนื่องจาก อารมณ์ขัน และ ความเฉลียวฉลาด ที่ผสมผสานกัน 

ยิ่งเมื่อเทียบกับองค์ความรู้ และ ความสามารถที่เขามี ก็จะยิ่งเข้าใจว่า เขาถือเป็นบุคคลที่เก่งระดับหาตัวจับยากมากคนหนึ่งในประวัติศาสาตร์จีนเลยทีเดียว หลี่ไป๋ ยังเคยเอยชื่อเขาว่า ผู้คนในโลกนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก ตงฟางซัว ผู้เป็นอมตะ  อีกด้วย

ข้างกาย ฮั่นหวู่ตี้ มักปรากฎชื่อ เว่ยชิ่ง และ หลานชาย ฮั่วชวี่ปิ้ง สุดยอดนักรบ แต่จะมีสักกี่คนที่ให้ความสนใจกับ คนข้างกายฮั่นหวู่ตี้อย่าง ตงฟางซัว

ตงฟางซัว (東方朔 ตงฟางซัวว 160 - 93 ปีก่อนค.ศ.) มีชื่อรองคือ หม่าเฉี้ยน (曼倩) เป็นชาวผิงหยวน ปัจจุบัน คือ มณฑลซานตง เขาเป็นคนยุคแรกๆ ที่นับถือ ลัทธิเต๋า  วัยเด็ก เป็นเด็กกำพร้า พี่ชายและพี่สะใภ้ต้องช่วยเลี้ยงดูตั้งแต่ยังเด็ก 

ขณะที่เขาอายุ 20 ปีเป็นช่วงเวลากับที่ ฮั่นหวู่ตี้ ประกาศคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถเข้ารับราชการ ตงฟางซัว ที่อาศัยอยู่ในชนบท เมื่อเขาทราบข่าว เขาตื่นเต้นมาก เขารีบร่ำลาพี่ชายและพี่สะใภ้  เดินทางไปเมืองหลวงยุคนั้น คือ นครฉางอาน

Resume


เมื่อเขาเดินทางมาถึงเมืองหลวง จึงรับรู้จากชาวเมืองว่า หากต้องการจะให้ ฮั่นหวู่ตี้ เรียกตัวเข้าวัง จะต้องเขียนหนังสือแนะนำตัวเองเสียก่อน หรือเรียกง่ายๆ ว่า Resume  คนอื่นๆ ต่างก็เขียนบทความแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่ตงฟางซัวไม่เหมือนใคร เขาเขียนหนังสือแนะนำตน ดังนี้

"เกล้ากระหม่อม มีนามว่า ตงฟางซัว เป็นชาวผิงหยวน อายุ 22 ปี ตัวสูงกว่า 8 ฉือ มีดวงตาสดใสดั่งไข่มุก  มีฟันขาวดั่งเปลือกหอย หน้าตาหล่อเหลาเอาการ "

อายุ 13 ได้ศึกษาตำราซ่างซู 

อายุ 15 ได้ร่ำเรียนกระบี่ 

อายุ 16 ได้ศึกษาคัมภีร์ ซือจิงและซูจิง นอกจากนี้กระหม่อมสามารถท่อง สารานุกรมได้ถึง 220,000 ตัวอักษร
อายุ 19 ได้ศึกษาตำราพิชัยสงครามอู๋ฉี่และ ซุนจื่อ จนเชี่ยวชาญ 

นอกจากนี้ยังแข็งแกร่งราว เมิ่งเปิน (孟贲 วีรบุรุษผู้กล้าแห่งแคว้นโจว) ว่องไวดั่ง ซิ่งจี้ (慶忌 เทพวานรแห่งแคว้นอู๋) เฉลียวฉลาดดั่ง เป้าซูหยา (鮑叔牙 ขุนนางแห่งแคว้นฉี) ถ้า เหว่ยเซิ่ง 尾生 ผู้ซื่อสัตย์ เป็นสมุหนายกได้ ข้าก็เป็น อัครมหาเสนาบดี ของท่านได้เช่นกัน" 

กระหม่อมยังได้รับการศึกษาจากศิษย์ขงจื้อผู้หนึ่ง คนอย่างเกล้ากระหม่อม หากไม่ได้รับการสนับสนุนคงเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง ดังนั้น เกล้ากระหม่อม จึงขอเสนอตัวต่อฝ่าบาท ขอพระองค์อย่าทำให้เกล้ากระหม่อมต้องผิดหวัง "

พอ ฮั่นอู่ตี้ ได้อ่านหนังสือแนะนำตัวสุด ขี้โม้ โอ้อวด  ของตงฟางซัว พระองค์ก็ทรงหัวร่อ งอหาย ทันที  และ คิดว่า คนผู้นี้มั่นใจในตนเองเกินไปจนน่าขันเสียจริงๆ จนอยากเห็นหน้าค่าตา เรียกตัวเข้าวัง แต่ ฮั่นหวู่ตี้  ต้องผิดหวัง ทั้งหน้าตาที่ไม่หล่อ และรูปร่างที่ไม่แข็งแกร่งเหมือนที่โม้ไว้  แต่เมื่อเรียกตัวเข้ามาแล้ว เขาจึงให้ตำแหน่ง สำนักงานรับเรื่องร้องเรียจากราษฎรที่ประตูวัง เท่านั้น

แต่นักประวัติศาสตร์ เชื่อว่า ฮั่นหวู่ตี้ ไม่ได้สนใจเรื่องขี้โม้ต่างๆ  แต่สนใจ เนื้อความจดหมายที่แสดงให้เห็นถึง ความรู้ และ สติปัญญา ในด้านต่างๆ ของเขา มากกว่า

ประตูม้าทองคำ

แรกเริ่ม เขาถูกเรียกตัวให้ไปทำงานที่ สำนักงานรับเรื่องร้องเรียนจากราษฎรที่ประตูวัง  ตอนนี้เขายังไม่ได้รับราชการด้วยซ้ำ แต่ก็ได้เบี้ยหวัดในแต่ละเดือน และที่สำคัญคือ  เขายังไม่ได้ใกล้ชิดกับ ฮั่นอู่ตี้ อีกด้วย

แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้พบกับ กลุ่มคนแคระที่เลี้ยงม้าให้ ฮั่นอู่ตี้ เขาก็เข้าไปพูดจายั่วยุ  ข่มขู่ คนแคระทันที

คนเช่นพวกท่าน ทำการเกษตรก็ไม่ได้ รับราชการก็ทำอะไรไม่เป็น ตีฆ้องออกศึกก็ไม่ได้ ช่างไร้ประโยชน์ต่อประเทศชาติจริงๆ สักวัน องค์ฮ่องเต้จะต้องสั่งฆ่าพวกเจ้าทิ้งเป็นแน่แท้  พวกเจ้ารีบไปขอความเมตตาจากองค์ฮ่องเต้ซะ  ก่อนที่จะเกิดเรื่องเถอะ 

คนแคระรีบไปเข้าเฝ้า เพื่อขอความเมตตาต่อ ฮั่นหวู่ตี้ ฮั่นหวู่ตี้ ไม่พอใจเรื่องนี้อย่างมาก รีบออกคำสั่งให้เรียกตัว ตงฟางซัว เข้าเฝ้าด่วน  ตงฟางซั่ว กลับอธิบายแบบติดตลกว่า

คนแคระสูงเพียง 3 ฟุต ได้เงินเดือนเป็นข้าว 1 กระสอบ ข้าสูงถึง 9 ฟุต แต่ได้เงินเดือนเป็น 1 กระสอบเท่ากัน ทั้งๆ ที่ คนแคระตัวเล็ก กินเล็กน้อยก็อิ่มหนำแล้ว  แต่ข้าตัวใหญ่ ทำให้ข้าต้องกินเยอะ  นั่นทำให้ข้าหิวโหย และ อดอยาก

ดังนั้น  ถ้าท่านเห็นว่า ข้ายังมีประโยชน์ ก็อย่าให้ข้าต้องทนอดอยากเลย แต่ถ้าเห็นว่า ข้าไร้ประโยชน์ก็ปล่อยให้ข้ากลับบ้านไป หางานอย่างอื่นทำเถอะ ท่านฮ่องเต้"

ฮั่นหวู่ตี้ ได้ยินก็หัวเราะชอบใจ ในไหวพริบปฎิภาณ รับสั่งให้เขาไปรับตำแหน่งที่ จินหม่าเหมิน หรือ ประตูม้าทองคำ ที่เป็น สำนักรับส่งบุคคลสาธารณะเข้าออกวัง ตอนนี้เองที่ทำให้เขาได้เริ่มต้นเข้าใกล้ ฮั่นอู่ตี้ เพิ่มขึ้น

แม้เขาจะอยู่รับราชการที่หอประตูม้าทองคำ แต่คร้้งหนึ่งเขาเคยเปรียบตัวเองไว้สูงส่ง ดังนี้ 

นักปราชญ์ในอดีต เลือกอยู่อาศัยอย่างสันโดษ บนภูเขา และในกระท่อม
แต่ตัวข้า สามารถอยู่อย่างสันโดษในประตูม้าทองคำ ของราชสำนักได้ 
ทำไมนักปราชญ์อย่างข้า ต้องไปอยู่อย่างสันโดษบนภูเขากันละ 

การละเล่นทายสิ่งของ
ถัดมา เป็นการละเล่นระหว่างฮ่องเต้ และเหล่าขุนนาง คือ การซ่อนสิ่งของเพื่อให้ทายสิ่งของที่ ฮั่นหวู่ตี้
มักจะเป็นคนเอาของไปซ่อน และให้ขุนนางทายของสิ่งนั้นคืออะไร 

ครั้งหนึ่ง ฮั่นหวู่ตี้ นำตุ๊กแกไปซ่อนในชาม ตงฟางซัว ประกาศทันทีว่า ข้าศึกษาศาสตร์ขงจื้อมา ทราบว่า สิ่งของนั้น เป็นมังกรไม่มีเขา งูไม่มีขา และสามารถไต่กำแพงได้ ดังนั้น มันต้องเป็น .........ไม่จิ้งจก ก็ตุ๊กแกแน่ๆ  เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้เขากลายเป็นคนโปรดของฮั่นหวู่ตี้ ทันที

แต่เรื่องนี้ ก็ทำให้เขาเริ่มสร้างศัตรู เช่นกัน เพราะคนใกล้ชิดของ ฮั่นหวู่ตี้ ได้คอยทูลกับ ฮั่นหวู่ตี้ ว่า  ตงฟางซั่ว เขาเป็นเพียงแค่ คนที่เดาสิ่งของที่ซ่อน ถูกต้องเพราะบังเอิญเท่านั้น ไม่ได้มีความสามารถอะไร  ดังนั้น คู่แข่งคนนี้จึงมักท้าแข่งกับ ตงฟางซั่ว  ต่อหน้าเหล่าขุนนางครั้งแล้วครั้งเล่า  ที่น่าแปลกคือ เขาสามารถทายได้ถูกทุกครั้ง และทำให้เขาสามารถขยับตำแหน่งขึ้นเป็นคนโปรดของ ฮั่นหวู่ตี้ ได้อย่างไม่ยากเย็น

นอกจากนี้  เขายังได้พูดจาติดตลก ต่อหน้า พระพักตร์อีกหลายครั้ง ในที่สุดเขาก็ได้มาเป็นหนึ่งในคณะผู้ติดตามฮ่องเต้ เป็น ราชเลขาธิการส่วนพระองค์

แม้ว่า  ฮั่นหวู่ตี้ จะทรงโปรด ตงฟางซัว แต่พระองค์ ก็ยังถือว่า เขาเป็นเพียง นักแสดงตลก แม้จะมีสติปัญญา แต่ก็มิอาจให้ทำการใหญ่ได้

แต่ในใจของตงฟางซัว มีอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ เขาจึงรู้สึกอึดอัด ครั้งหนึ่งตงฟางซัว ทนไม่ไหวจึงเขียนฎีการายงานด้านการเกษตรและด้านการทหารทูลต่อฮ่องเต้ หลายครั้ง ด้วยหวังว่าตนอาจได้รับตำแหน่งขุนนางที่มีอำนาจอย่างแท้จริง 

แต่หนังสือของเขา มักโดนขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ตีตก และมองเขาเป็นเพียงขุนนางชั้นผู้น้อย ที่สนิทชิดเชื้อฮั่นหวู่ตี้ เท่านั้น  และไม่เห็นด้วยกับหนังสือฎีกาของเขา  ยิ่งพอ ฮั่นหวู่ตี้ ได้อ่าน พระองค์กลับรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องตลก จึงไม่ได้ใส่พระทัยอะไรมาก   อาจเป็นเพราะ ตงฟางซัว มีความสามารถในการเล่าเรื่องตลกได้ดี พอเขาจะทำเรื่องจริงจังคนอื่นก็ยังมองว่าเป็นเรื่องตลกอยู่ดี

เหตุการณ์เหล่านี้เอง ทำให้เขารับรู้ได้เลยว่า เขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่ เขายืนอยู่บนเส้นด้ายกลางภูผา เพราะเขาอยู่ท่ามกลาง การประจบสอพลอ และ การใส่ร้ายป้ายสี ของบรรดาเหล่าขุนนาง  และ เขายังต้องพยายามระมัดระวังคำพูดคำจาของตัวเขา กับ ฮ่องเต้ มากขึ้น เพราะ การอยู่ใกล้ชิดกับ ฮ่องเต้ เปรียบเสมือน การนั่งอยู่ข้างพยัคฆ์ร้ายดีๆ นี่เอง

ช่วงน้้น เขาถึงกับแต่งหนังสือ "การต้อนรับแขก"  ที่เป็นหนังสือสอนการพูดจาแบบ หลบความหมายที่ลึกซึ้ง หลักการการพูดจา ในหนังสือของเขา คือ 
1. ต้องอาศัยการสังเกต ปฎิกริยา อาการต่างๆ ของผู้ฟัง ก่อนที่จะ วิจารณ์ หรือ ตำหนิในเรื่องต่างๆ
2. ต้องตอบโต้ด้วย ความไพเราะ และอาศัย ไหวพริบ ปฎิภาณ ช่วยขัดเกลา 
3. โดยบางครั้ง อาจต้องอาศัย ความตลกขบขัน กลบเกลื่อน

อุทยาน ซ่าหลิงหยวน
แม้ว่า ตงฟางซั่วจะไม่ประสบความสำเร็จในการยื่นฎีกาหลายครั้ง แต่ ตงฟางซัว ก็พยายามยื่นเรื่องแนวนี้อีกหลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่ง ฮั่นหวู่ตี้รู้สึกว่า การเล่นเกมส์ออกป่าล่าสัตว์นั้น เขาต้องเดินทางไปป่าเพื่อล่าสัตว์ถึง 3 วัน 3 คืน ทำให้เสียเวลามาก  ดังนั้น ฮั่นหวู่ตี้ จึงต้องการสร้างอุทยานสวนป่า ไว้ใกล้ๆ พระราชวัง คือ อุทยาน ซ่าหลิงหยวน แทน เพื่อลดเวลาเดินทางในการเกมส์การล่าสัตว์ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล และยังต้องขับไล่ผู้คนที่ทำนาออกไปจากพื้นที่อีกด้วย

ตงฟางซัว ยื่นเรื่องคัดค้านเรื่องนี้ทันที โดยกล่าวว่า 

ความสุภาพ และความอ่อนนน้อมถ่อมตน จะนำมาซึ่ง พรจากสวรรค์
ความเย่อหยิ่ง และ ความฟุ้งเฟ้อจะนำมาซึ่ง หายนะจากสวรรค์ 
ตอนนี้ ฮ่องเต้ คิดว่า วังของตัวเองใหญ่ไม่พอ กว้างไม่พอ 
ลองคิดดู พื้นที่ดังกล่าว ปลูกข้าวได้มากมาย ประชาชนกินดีอยู่ดี
แต่กลับถูกกำหนดให้สร้างเป็น อุทยาน ให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของเสือ และ กวาง
แต่ประชาชนกลับไร้ซึ่งที่อยู่อาศัยแทน ช่างน่าเศร้าใจจริงๆ "

และยังยกตัวอย่าง
แคว้นโจว สร้างวังใหญ่โต ทำให้เจ้าชายก่อกบฎ 
แคว้นฉู่ สร้างวังทำให้ชาวฉู่ ก่อกบฎ
ฉินซีฮ่องเต้  สร้างพระราฃวัง กลับนำไปซึ่งความโกลาหล 

แม้ ฮั่นหวู่ตี้ จะรับฟัง แต่ก็ยังคงออกคำสั่งให้ดำเนินการสร้าง อุทยานป่า ซ่าหลิงหยวน ต่อไปอยู่ดี แต่ฮั่นหวู่ตี้ ก็ยังยินดีและชื่นชม ต่อความกล้าหาญ และความจงรักภักดี จึงได้มอบรางวัล เป็นทอง 100 ตำลึง เป็นของรางวัลแก่ตงฟางซัว

จนหลังๆ  ตงฟางซั่ว ตัดสินใจไม่เอ่ยถึงเรื่องแนวทางการบริหารบ้านเมืองมากนัก  ฮั่นหวู่ตี้ ก็ไม่ใส่พระทัย ดังนั้น ตงฟางซั่ว จึงล้มเลิกความคิดได้แต่ตีสีหน้าเล่าเรื่องตลก และให้ความเห็นเล็กๆ น้อยๆ ต่อองค์ฮ่องเต้พอใจไปวันๆ เท่านั้น

คดีแอบหั่นเนื้อ
โดยปกติ ฮั่นหวู่ตี้ จะแจกเนื้อให้กับ ข้าราชการและคนรับใช้เป็นประจำ  แต่วันหนึ่งขันทีที่รับผิดชอบการหั่นเนื้อแจกมาสาย ตงฟางซั่วจึงหยิบดาบหั่นเนื้อส่วนของตัวเอง แล้วบอกกับทุกคนว่า ในวันที่อากาศร้อนเช่นนี้ รีบนำเนื้อกลับบ้านดีกว่า แล้วก็ห่อใส่แขนเสื้อ กลับบ้าน

ขันทีที่รับผิดชอบการหั่นเนื้อ ทราบเรื่องก็รีบไปรายงานเรื่องนี้ต่อฮั่นหวู่ตี้ ฮั่นหวู่ตี้ จึงมีรับสั่งให้ ตงฟางซัว เข้าเฝ้าด่วน พร้อมออกคำสั่งทันที ตงฟางซัว เรื่องนี้ เจ้าสมควรตำหนิตัวเองอย่างไร !!

ตงฟางซัว จึงโค้งคำนับ 2 ครั้ง ก่อนตะโกนด่าทอว่า  ตงฟางซัว ตงฟางซัว เจ้ารับรางวัลโดยไม่รอคำสั่ง เจ้าฝ่าฝืนพระราชโองการ เจ้าชั่วช้ายิ่งนัก ตงฟางซัว เจ้ากล้าดียังไง ถึงกล้าชักดาบออกมาแล่เนื้อที่ยังไม่เน่าเสีย นำกลับบ้านไปมอบให้กับภรรยาตัวน้อย  เจ้ากล้าดียังไง เจ้าตงฟางซัว

ฮั่นอู่ตี้ หัวเราะลั่น พร้อมกับกล่าวว่า ข้าสั่งให้เจ้าสารภาพความผิดของตัวเอง ไม่ได้ให้ยกย่องตัวเอง สักหน่อย ......... หลังจากเหตุการณ์นี้ ฮั่นอู่ตี้ยังพระราชทานรางวัล เหล้ากับเนื้อแมว ให้เขานำไปมอบให้ภรรยาเขาเพิ่มอีกด้วย

ปลบใจคดีองค์ชาย หลานฮ่องเต้
ในอดีต พี่สาวของฮ่องเต้ ฮั่นอู่ตี้ มีลูกชายเพียงคนเดียว และเห็นว่า บุตรชายคนนี้ เป็นคนหยิ่งผยองตั้งแต่เด็ก  เมื่อพี่สาวใกล้เสียชีวิต จึงได้ใช้ ทองคำ 1000 ตำลึง มอบให้แก่ ฮั่นอู่ตี้ เพื่อใช้ไถ่โทษประหารแก่ องค์ชายคนนี้ไว้ก่อน ฮั่นอู่ตี้ก็ตอบตกลงไปเช่นนั้น

แต่ยิ่ง แม่เสียชีวิตลง องค์ชาย องค์นี้ กลับเริ่มหยิ่งยโสมากขึ้นกว่าเดิม ครั้งหนึ่งเขาเมาและฆ่าคนตาย ทำให้เขาถูกจับกุม บรรดาข้าราชการชั้นสูงต่างขอร้องต่อ ฮั่นอู่ตี้ โดยให้ความเห็นว่า แม่ของเขาได้จ่ายเงินเพื่อไถ่โทษประหารไว้แล้ว และฮั่นอู่ตี้ก็ได้ตอบตกลงเรื่องนี้ไปแล้วด้วย 

ฮั่นหวู่ตี้ ตอบกลับพร้อมน้ำตาว่า ใช่ พี่สาวได้มอบบุตรชายคนนี้ให้ข้าดูแล แต่กฎหมายถูกเขียนโดยบรรพบุรุษที่ล่วงลับ หากข้าฝ่าฝืน ข้าจะมีหน้าไปพบเหล่าบรรพบุรุษได้อย่างไร ว่าแล้วก็ตัดสินประหารชีวิต องค์ชายท่านนี้

ตอนนี้ ภายในวังมีแต่คนเศร้าเรื่องดังกล่าว แต่แล้ว วัง ก็ได้จัดงานราชสมภพ ของฮ่องเต้  ทำให้ ตงฟางซัว ก็ได้มีโอกาสพบกับฮั่นอู่ตี้ เขากล่าวว่า 

กระหม่อมได้รับรู้มาว่า

ฮ่องเต้ที่รอบรู้ และ เรืองอำนาจ มิอาจหลีกเลี่ยงศัตรูได้
การลงโทษ ก็มิอาจแยกแยะสายเลือด กับความเท่าเทียมได้
การแยกแยก ความความเที่ยงธรรม ออกจาก ความเห็นแก่ตัว นั่นคือ วิถีแห่งฮ่องเต้ที่ยิ่งใหญ่

ก่อนที่ ตงฟางซั่วจะยกเหล้าขึ้นมาชวนฮั่นอู่ตี้ ดื่ม และอวยพรให้ ฮ่องเต้ทรงพระเจริญ

เขายังกล่าวต่อว่า 
ความสุขที่มากเกินไปจะทำให้ กระแสหยางไหลล้น
ความเศร้าที่มากเกินไปจะทำให้ กระแสหยิน เสียหาย 
การสูญเสียสมดุลแห่งหยินหยาง จะทำให้กระแสชี่ล่องลอย
และจะทำให้สูญเสียจิตวิญญาณ สิ่งนี้จะทำให้ความชั่วร้ายเข้ามารุกราน

นักวิจัยประวัติศาสตร์ วิเคราะห์ว่า ตงฟางซัว เลือกเวลาที่เหมาะสมในการพูดแล้ว จะทำให้คนอื่นไม่เกลียดคำพูดของคุณ เพราะเขาเลือกที่จะปลอบประโลมฮ่องเต้ในงานวันเกิดของเขา ซึ่งหลักการนี้จะอยู่ในตำราดังกล่าวด้วย

คดีตัดสินประหารชีวิตทหาร
ครั้งหนึ่ง มีทหารไปฆ่ากวาง ในอุทยาน ซ่าหลิงหยวน โดยไม่ได้รับพระราชทานอนุญาต ทำให้เหล่าข้าราชการนำตัว ทหารคนนั้น มาให้ ฮั่นอู่ตี้ ตัดสินประหารชีวิต  ฮั่นอู่ตี้ หันไปขอความเห็นกับ ตงฟางซัว เขากลับกล่าวทูลกับ ฮั่นอู่ตี้ ไว้ดังนี้

ชายคนนี้สมควรรับโทษประหาร  ด้วยเหตุผล 3 ประการ ดังนี้
1. ปล่อยให้มือฮ่องเต้ ต้องแปดเปื้อนเลือด เพราะ กวางเป็นเหตุ 
2. ประชาชนชาวฮั่น จะได้เห็นว่า ฮ่องเต้องค์นี้ เห็นชีวิตของกวาง มีคุณค่ามากกว่า ชีวิตมนุษย์
3. ข้าศึกอย่างซ่งหนู พยายามอย่างหนักที่จะวางแผนฆ่าทหารฮั่นให้ได้  แต่ กวาง ตัวนี้กลับเก่งกว่า พวกซ่งหนู อีก เพราะมันสามารถฆ่าทหารฮั่นได้อย่างง่ายดาย

เมื่อฮั่นอู่ตี้ ได้ยินก็ไม่พูดอะไร และให้พระราชทานอภัยโทษแก่ทหารที่ฆ่ากวางนั้น

คดีไวน์อมตะ

ครั้งหนึ่ง ฮั่นอู่ตี้ สั่งให้ข้าราชการช้้นสูงจำนวนหนึ่งออกเดินทางไปตามหา ยาอายุวัฒนะ  เวลาผ่านไปเนิ่นนาน พวกเขายังคงหา ยาอายุวัฒนะ ไม่ได้ 

แต่พวกเขาได้ปลอม เหล้าอายุวัฒนะขึ้นมา เมื่อถึงเวลานำมาถวายแก่ ฮั่นอู่ตี้  ตงฟางซั่ว ก็รีบประกาศว่า เหล้าอายุวัฒนะนี้ เป็นของแท้ หรือไม่ ข้าจะเป็นผู้ทดสอบเอง  และหยิบเหล้านั้นมาดื่มทันที 

ฮั่นอู่ตี้ โมโหมาก ที่ชิงตัดหน้ากินยาอายุวัฒนะไป รีบสั่งให้นำตัว ตงฟางซัว ไปประหารชีวิต

แต่ ตงฟางซั่วกลับสวนกลับว่า   หากเหล้าเป็นยาอายุวัฒนะจริง ท่านจะสามารถฆ่าข้าได้หรือ หากฆ่าข้าได้แสดงว่า เหล้าเป็นของปลอม  แล้วข้าเป็นคนทดสอบเหล้าอมตะนี้ จะมีความผิดอันใดหรือ

ฮั่นอู่ตี้ไม่พูดอะไร ก็เงียบไป เรื่องนี้ถูกอ้างอิงในนิยาย เรื่องไซอิ๋วด้วย เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังตอนท้ายนะครับ

การเปลี่ยนภรรยาทุกปี
นอกจากนี้  เขาเป็นคนที่เปลี่ยนภรรยาทุกปี โดยกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องเป็นหญิงสาวหน้าตาดี อายุยังน้อย และต้องเป็นชาวนครฉางอาน เท่านั้น สิ่งนี้เองที่ทำให้เขาภาพลักษณ์ไม่ดี  เขาก็มักโดนขุนนางชั้นผู้ใหญ่โจมตีเขา เรื่องนี้ และ ทำให้เขาโดนติฉินนินทาจากเหล่าขุนนาง โดยเฉพาะเรื่องที่เขาลุ่มหลงในความงามอย่างขาดความยับยั้งชั่งใจ 

แม้ ฮั่นหวู่ตี้ จะรับรู้เรื่องนี้  แต่ก็ไม่ได้สนใจเรื่องดังกล่าว แถมยังให้รางวัลเพื่อให้เขาไปมอบใหักับภรรยาอยู่สม่ำเสมออีกด้วย

ก่อนเสียชีวิต
จนเมื่อตงฟางซั่วใกล้เสียชีวิต เขาจึงได้ส่ง บทกลอน  ให้ฮั่นหวู่ตี้ ผ่านขันทีคนสนิทของพระองค์ ดังนี้

"แมลงมัก บินว่อน แต่เกาะที่ริมรั้ว 
สุภาพบุรุษ ที่ซื่อตรง มีคุณธรรม เขาจะไม่เชื่อเรื่อง ใส่ร้ายป้ายสี และคำประสบสอพลอ

การประสบสอพลอ และ การใส่ร้ายป้ายสี จะไม่มีวันสิ้นสุด
สิ่งนี้จะทำให้ ประเทศ ไม่มีวันสงบสุข"

เมื่อฮั่นหวู่ตี้ ได้ทราบเรื่อง กลับตกใจ แล้วพูดว่า

"นี่... ตงฟางซัว พูดจริงจัง เป็นด้วยหรือนี่ ? "

ตงฟางซัว รับใช้ราชสำนักมายาวนานหลายปี ปกติพูดคุยแต่เรื่องตลก จู่ๆ ก็พูดเรื่องจริงจังอย่างนี้ ฮั่นหวู่ตี้ ก็ย่อมรู้สึกแปลกใจไม่น้อย 

ดั่งสุภาษิตโบราณ ที่ว่าไว้ว่า

"เมื่อนกใกล้จะตาย เสียงของมันจะเศร้ามาก

เมื่อคนใกล้จะตาย เสียงของเขาจะไพเราะมาก"

หลังจากที่ตงฟางซัว เสียชีวิตไม่นานก็เกิดเหตุการณ์  “กบฏมนต์ดํา” (巫蠱之禍) มูลเหตุ อันเนื่องมาจาก ฮั่นหวู่ตี้ ไปเชื่อคำใส่ร้ายป้ายสี ของขุนนางบางกลุ่ม ว่า องค์รัชทายาท หลิวจี้ ทำคุณไสยแก่ องค์ฮ่องเต้
เพื่อให้มีอันเป็นไป ทำให้ องค์รัชทายาทต้องก่อกบฎ ไล่ฆ่าเหล่าขุนนางที่ใส่ร้ายป้ายสีเขา  เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผู้คนล้มหายตายจากนับแสนคนเลยทีเดียว   ซึ่งตรงตามคำทำนายของเขา 

นอกจากนี้ ในหนังสือประวัติศาสตร์ หลายเล่ม ระบุตรงกันว่า เขาเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังหลายเรื่องของ ฮั่นหวู่ตี้ ไม่ว่าจะพยายาม ลดความฟุ่มเพื่อยของราชสำนักลง เรื่องความเมตตาต่อประชาชน และ การสังหารเหล่าขุนนาง ปัจจุบัน เขาได้ชื่อว่า เป็น เทพเจ้าแห่งการพูดจาข้ามเรื่อง ซึ่งถือเป็นศิลปในการพูดจาแขนงหนึ่ง คือ การใช้เรื่องตลก มาเล่าเรื่องที่จริงจัง ผ่านการเสียดสี ประชดประชัน หรือการโน้วน้าวแบบอ้อมค้อม

ในนิยายเรื่องไซอิ๋ว 
ใน นิยายเรื่องไซอิ๋ว ตอนที่ 12  คือ ตอน ผลไม้เด็กทารก ที่จะมีนักพรตระดับเซียน ชื่อ เจิ้นหยวนต้าเซียน ที่ใช้ชื่อนักพรต ว่า  หม่าเฉี้ยน ซึ่งเป็นชื่อรองของ ตงฟางซั่ว อีกด้วย และอย่าลืมว่า ตงฟางซั่ว คือ ผู้ที่นับถือลัทธิเต๋าคนแรกๆ ของยุค ดังนั้นเขาจะถูกยกย่องเป็น เซียนแห่งลัทธิเต๋าย่อมไม่แปลก

ในเรื่องไซอิ๋ว มี  2 คนที่ขโมยผลลูกท้อสวรรค์ที่เป็นอมตะ ได้ คือ หงอคง หรือ หวู่คง อีกคนคือเซียนนักพรต ตงฟางซัว  

ระหว่างที่ นักพรตเซียน เข้าจับกุมคณะของ พระถังซัมจัง ที่เพิ่งขโมยผลไม้ทารกอายุยืน มาก็มี การเล่นลิ้น เล่นคำ พูดเหมือนกับตัวจริง อีกด้วย 

โดยในปริศนาในตอนนี้ มีนักวิเคราะห์ไซอิ๋ว เชื่อว่า  หงอคงพ่ายแพ้ต่อคำพูดของนักพรต หม่าเฉี้ยน มากกว่า  เพราะ ลำพัง อิทธิฤิทธิ์ของ เซียนนักพรต ย่อมสู้หงอคงไม่ได้อยู่แล้ว

เรื่องนี้ ยังเกี่ยวข้องกับ ยาอายุวัฒนะ และการขโมย อีกด้วย โดยเชื่อว่า มาจากชีวิตจริง ตอน แย่งชิงเหล้าอมตะจากฮั่นอู่ตี้ กับ การได้รับ พระราชทาน ลูกท้อ จากฮองเฮา อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีคนวิเคราะห์เรื่องไซอิ๋วอีกว่า นักพรตเซียน หม่าเฉี้ยน ยังกล่าวถึงหงอคง
อีกว่า "ในสมัยที่ท้องฟ้ายังเป็นยุคฮั่น มีลิงตัวหนึ่งตกลงมาจากท้องฟ้าและ ถูกกักขังไว้ในภูเขาห้านิ้ว"   ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลย ว่า คนเขียน หวู่ เฉินเอิง นั้น ให้พระถังซัมจั๋ง ออกเดินทางในยุคสมัยราชวงศ์ถัง  ดังนั้นในยุคที่ หงอคง อาละวาดบนสวรรค์ เมื่อ 500 ปีก่อน ก็จะต้องเป็น ยุคสมัยราชวงศ์ฮั่น อย่างแน่นอน อย่างที่ในนิยายระบุ เพราะราชวงศ์ถัง กับราชวงศ์ฮั่นนั้น ห่างกัน 400-600 ปีพอดี  เป็นการยืนยัน ตัวละครเซียนนักพรต คนนี้มาจาก ยุคฮั่น และ คือ ตัวจริง ตงฟางซัว อย่างแน่นอน